สภาพัฒน์ขวางแผนลงทุนสายสีส้มค่างาน 1.3 แสนล.

รถไฟฟ้าสายสีส้ม
คืบหน้า 22.77% - รฟม.กำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ขณะนี้มีความก้าวหน้าแล้ว 22.77% ส่วนการเดินรถอยู่ระหว่างรอบอร์ด PPPอนุมัติรูปแบบการลงทุนที่จะนำไปรวมกับงานก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ตามแผนจะเปิดใช้ปี 2566 เชื่อมโยงการเดินทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร
บอร์ด PPP ตีกลับรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังสภาพัฒน์ข้องใจเปิดให้เอกชนเหมาก่อสร้างและเดินรถ 36 กม. จาก “มีนบุรี-บางขุนนนท์” สัญญาเดียว 1.28 แสนล้าน แถมรัฐต้องอุดหนุนไม่เกินค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้าน สั่งทบทวนรูปแบบลงทุนใหม่

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่อนุมัติให้ รฟม.ดำเนินการเปิดประมูลสัญญาเดียวรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 128,000 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนก่อสร้างด้านตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 96,000 ล้านบาท และคัดเลือกเอกชนเดินรถสายสีส้มตลอดเส้นทางจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รวมระยะทาง 36 กม. วงเงินประมาณ 32,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าเวนคืนที่ดินอีก 14,600 ล้านบาท

เนื่องจากสภาพัฒน์มีข้อเสนอแนะในที่ประชุมให้ รฟม.ทบทวนรูปแบบการลงทุนที่ รฟม.เสนอจะให้เอกชนรายเดียวมาดำเนินการทั้งก่อสร้างและเดินรถในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมที่จะแยกประมูลคนละสัญญา ทางประธานในที่ประชุมจึงให้ รฟม.นำโครงการกลับมาหารือกับสภาพัฒน์อีกครั้งหนึ่งก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP พิจารณาในคราวต่อไป

“คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกคงจะไม่สามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนเพื่อยกร่างทีโออาร์เปิดประมูลโครงการในปี 2562”

นายภคพงศ์กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้โมเดลการลงทุนเหมือนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งรัฐเวนคืนที่ดินให้ ส่วนเอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและระบบเดินรถ รวมวงเงิน 128,000 ล้านบาท และรัฐสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินเพดานค่างานโยธา 10 ปี

“ก่อนหน้านี้ บอร์ดให้ รฟม.ไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฉบับใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการทุกอย่างแล้ว โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หรือ EIRR 19% ส่วนด้านการเงิน หรือ FIRR ติดลบ เป็นปกติการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า การที่ รฟม.เสนอแบบ single one single package คือ ให้งานก่อสร้างและเดินรถไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เปิดบริการได้ตามแผน ซึ่งสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ก่อสร้างและคืบหน้าแล้วกว่า 22.77% มีกำหนดจะเปิดบริการปี 2566 จากเดิมเริ่มงานก่อสร้างแล้วถึงจะเปิดประมูลเดินรถ หากมีปัญหาจะทำให้การเปิดใช้ล่าช้าได้

“ทั้งนี้ งานระบบจะใช้เวลาดำเนินการ 36 เดือนในการผลิต ติดตั้งและทดสอบระบบ หากหาเอกชนดำเนินการได้ในปี 2562-2563 ถือว่ายังอยู่ในแผนงาน”

แนวรถไฟฟ้าสายสีส้มมีจุดเริ่มต้นจากบางขุนนนท์ ใช้แนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยงใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชแล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี

จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนราชปรารภถึงดินแดงแล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ตัดตรงไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วเบี่ยงเข้าแนวถนนพระรามเก้า ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี แยกถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณมีนบุรี

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!