ให้กันรัวๆ! กรมทางหลวงชนบทมอบของขวัญปีใหม่’62 เปิดใช้ 5 โครงข่ายถนน-สะพาน

กรมทางหลวงชนบทมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนคนไทย รวม 5 โครงการ ทั้งถนนต่อเชื่อมราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก สะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ ถนนเลียบชายฝั่งทะเลคาดช่วยแก้ปัญหาจราจร กรุงเทพฯและปริมณฑล ลดอุบัติเหตุจุดตัดรถไฟ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ตามแนวชายฝั่งทะเลภาคกลางตอนล่างต่อเนื่องภาคใต้ตอนบน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า กรมได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนและสะพาน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คมนาคมขนส่ง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล สำหรับในเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้ได้เปิดถนนและสะพานเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย จำนวน 5 โครงการ

1.ถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้) จังหวัดนนทบุรี, ปทุมธานี มีระยะทางรวมประมาณ 14.7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 6,758.736 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้างเป็น 4 สัญญา ซึ่งเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2561 โดยมีแนวเส้นทางต่อขยายจากถนนราชพฤกษ์เดิมที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 345 ไปทางทิศเหนือบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 346 บริเวณทางแยกถนนเลี่ยงเมืองปทุมธานี รวมทั้ง มีถนนเชื่อมต่อไปยังถนนกาญจนาภิเษก สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้เน้นย้ำให้กระทรวงคมนาคมช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ให้ทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่ง บรรเทาการจราจรถนนบริเวณโดยรอบให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากับถนนกาญจนาภิเษกและช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมทางถนนด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

2.สะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1021 แยก ทล.4 – บ้านหน้าป้อม อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อสร้างทางเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ ที่มีพื้นสะพานเป็นโครงสร้างพิเศษ ความยาว 340 เมตร พร้อมทางกลับรถใต้สะพานและถนนต่อเชื่อมสองฝั่ง ความยาวรวม 985 เมตร พร้อมก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางรถไฟ ความยาว 126.11 เมตร สำหรับพาหนะขนาดเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ และได้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 175.370 ล้านบาท

เมื่อเปิดใช้งานสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟอย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการสัญจรของรถไฟและยานพาหนะบนถนนทางหลวงชนบท รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาการขนส่งระบบรางโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสะพานดังกล่าวจะมีพิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2562 นี้

3.โครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) จำนวน 3 สายทาง โดย ทช.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลภาคกลางตอนล่างต่อเนื่องภาคใต้ตอนบนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

ซึ่งเป็นที่ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความสมบูรณ์ สามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพื่อกระตุ้นการลงทุนทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อ
ทั้งชุมชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนสามารถใช้เป็นเส้นทางโครงข่ายสายรองในการเชื่อมต่อกับถนนสายหลักในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ประกอบด้วย ถนนทางหลวงชนบทสายบ้านคลองโคน – บ้านบางตะบูน อำเภอเมือง, บ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม, เพชรบุรี ระยะทาง 14.386 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 297.180 ล้านบาท

ถนนทางหลวงชนบทสายบ้านท่าม่วง – บ้านบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 16.122 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 198.670 ล้านบาท

ถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.3201 – บ้านบางจาก อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร ระยะทาง 8.595 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้าง 83.480 ล้านบาท

4.ถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.2052 แยก ทล.37 – โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 10.497 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 168 ล้านบาท

ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งเชื่อมโยงอำเภอหัวหินกับแหล่งท่องเที่ยวด้านฝั่งตะวันตกของทางหลวงหมายเลข 37 ตลอดจนสามารถเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองสู่แหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

5.ถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.231 – ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทาง 9.077 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 231.880 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วปลอดภัยในการคมนาคมเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี แก้ไขปัญหาจราจรการขนส่งเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ตลอดจนเพื่อสนับสนุนนโยบายจังหวัดในการเสนอตัว
เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 33 ในปี 2568 ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 นี้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!