คณะกรรมการกำกับทางด่วนชี้ขยายสัมปทาน37ปี แลกยุติข้อพิพาทเป็นแนวทางที่ดี รอสรุป21ม.ค.นี้

แฟ้มภาพประกอบข่าว

นายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ครั้งที่ 3/2561 เห็นว่าแนวทางที่ได้มีการหารือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับผู้รับสัมปทาน โดยเฉพาะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดให้ กทพ.ชำระค่าเสียหายให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ผู้รับสัมทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างทางแข่งขันเป็นวงเงินรวมดอกเบี้ย 4,300 ล้านบาทเป็นแนวทางที่ดี

จึงให้ กทพ.ไปตรวจสอบความละเอียดรอบคอบ โดยจะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ที่ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาท กรณีที่เกิดคดีความตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นคดีเดียวหรือหลายคดีในประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้

“ส่วนจุดยืนของสหภาพฯ ทั้ง 5 ข้อ กทพ.ต้องเป็นผู้ทำความเข้าใจ เพราะคณะกรรมการกำกับดูแลในภาพรวมเท่านั้น โดยคณะกรรมการกำกับจะนัดประชุมในวันที่ 21 ม.ค. 2562 เพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป”

ด้านนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า แนวคิดการขยายอายุสัญญาที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM ) รับสัมปทานทุกโครงข่ายทั้งทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วน D ช่วงพระราม 9-ศรีนครินทร์ และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ออกไปอีก 37 ปี เพื่อลดภาระหนี้ข้อพิพาทที่มีต่อกันคิดเป็นมูลค่า 137,515.6 ล้านบาท ที่ประชุมก็ให้นำกลับไปตรวจสอบความละเอียดรอบคอบ แล้วนำมาเสนอความคืบหน้าในวันที่ 21 ม.ค. 2562

ส่วนความคืบหน้าโครงการทางด่วน 2 ชั้น ช่วงประชาชื่น-อโศก ระยะทางประมาณ 13-14 กม. เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท ตอนนี้แบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน ส่วนจะนำเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund-TFFIF) มาใช้หรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาอีกมาก เพราะจะนำเงินกองทุนมาใช้ กทพ.จะต้องทำเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติต่อไปด้วย

ด้านนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน เปิดเผยว่า กรณีอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด เกี่ยวกับคดีปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ปี 2551 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดใช้ค่าเสียหายให้ BEM เป็นจำนวนเงิน 9,091 ล้านบาทนั้น ประมาณกลางเดือน ม.ค. 2562 นี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 90 วันตามกฎหมาย กทพ.จะดำเนินการขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เพื่อให้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองต่อไป