ไม่เบี่ยงแนวบางใหญ่-กาญจน์ รื้อค่าชดเชยที่ดินรัฐประหยัด2พันล้าน

แฟ้มภาพ
กรมทางหลวงไม่ปรับแนวใหม่มอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ผ่าทางตันค่าเวนคืนที่ดินแพง รื้อแบบ ลดเกณฑ์ค่าชดเชยใหม่ในพื้นที่นครปฐม คาดประหยัดได้ 2 พันล้าน ชงแผนใช้งบฯปี”62 โยกค่าก่อสร้างโปะ 7 พันล้าน ย้ำปีหน้าเคลียร์จบ 1.2 หมื่นล้าน รอ ครม.เคาะก่อนเลือกตั้ง เผยโครงการดีเลย์ร่วมปี ต้องเลื่อนเปิดใช้จากปี”64 เป็นปี”65

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมได้จัดทำข้อมูลรายละเอียดประเด็นการเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ชี้แจงคณะกรรมการ (บอร์ด) สภาพัฒน์แล้ว คาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือน ม.ค. 2562 กรณีค่าเวนคืนที่ดินโครงการดังกล่าว ระยะทาง 96 กม. เพิ่มขึ้น 14,217 ล้านบาท จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 19,637 ล้านบาท เพื่อให้บอร์ดสภาพัฒน์พิจารณาอนุมัติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่ม ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562

ที่ผ่านมา กรมได้พิจารณารายละเอียดโครงการเพื่อปรับลดวงเงินค่าเวนคืนที่ดิน โดยจะปรับลดรูปแบบก่อสร้างบางช่วง ปรับลดเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน เช่น บริเวณนครชัยศรี ที่มีจำนวนผู้ถูกเวนคืนจำนวนมาก จะลดวงเงินไปได้ 2,000 ล้านบาท ส่วนการปรับแนวเส้นทางช่วงต่อเชื่อมกับแยกบางใหญ่นั้น เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว ได้ข้อสรุปจะยังคงแนวเดิม เพราะหากเบี่ยงแนวใหม่ระยะทาง และค่าก่อสร้างเพิ่มจะไม่คุ้มค่า

“จะทำข้อมูลเสนอเป็นกรอบวงเงินการลงทุนโครงการในภาพรวม ทั้งค่าก่อสร้างและค่าเวนคืน สำหรับค่าก่อสร้างสามารถประหยัดงบฯ ได้จากการประมูลงาน 25 สัญญา ร่วม 5,000 ล้านบาท จะนำมาจ่ายค่าเวนคืน ทำให้ค่าเวนคืนทั้งโครงการที่จะขอเพิ่มอยู่ที่ 12,000 ล้านบาทโดยกรมจะขอค่าเวนคืนเพิ่มเติมจาก ครม.ไม่เกิน 8,000 ล้านบาท หากได้รับอนุมัติจะทำให้ค่าเวนคืนของโครงการเมื่อรวมกับที่จ่ายไปแล้ว 5,420 ล้านบาทอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ 19,637 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ผลจากการเวนคืนที่ดินล่าช้าร่วม 2 ปี ทำให้ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการคืบหน้า 16.9% ล่าช้าอยู่ 27% จากแผนงานต้องก่อสร้างได้ 44% ส่วนการเปิดประมูลระบบเก็บเงินค่าผ่านทางและซ่อมบำรุงโครงการ (O&M) ที่จะเปิดประมูลรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ของมอเตอร์เวย์ 2 สายทั้งบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี จะเปิดขายทีโออาร์ได้ต้นปี 2562 ปัจจุบันคณะกรรมการมาตรา 35 อยู่ระหว่างปรับเงื่อนไขในทีโออาร์

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมว่า วงเงิน 2,000 ล้านบาทที่ปรับลดได้ มาจากการปรับทั้งโครงการ เช่น รูปแบบก่อสร้าง ลดการเวนคืนในบางพื้นที่ที่ยังไม่จำเป็นต้องเวนคืนในขณะนี้ พร้อมปรับลดเกณฑ์ราคาในบางพื้นที่ลง เช่น อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งราคาที่ดินค่อนข้างสูง และมียอดผู้ถูกเวนคืนจำนวนมาก บริเวณบางใหญ่จุดสิ้นสุดโครงการที่ดินราคาสูงเหมือนกัน แต่มีผู้ถูกเวนคืนน้อยกว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มขึ้น 280% เนื่องจากราคาที่ดินและราคาประเมินปรับเพิ่มขึ้นสูง

“ทั้งโครงการมียอดเวนคืน 7,276 ราย แยกเป็น จ.นนทบุรี 1,058 ราย นครปฐม 3,423 ราย ราชบุรี 352 ราย กาญจนบุรี 1,765 ราย จ่ายไปแล้ว 5,420 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ ครม.อนุมัติ ยังตกค้างอยู่ 12,000 ล้านบาทที่กำลังขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติม ให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่เดินหน้าก่อสร้างได้”

โดยกรมมีงบฯรออยู่แล้ว 5,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ ต้องรอ ครม.อนุมัติกรอบค่าเวนคืนโดยรวมก่อน นอจากนี้ จะปรับแผนการใช้งบฯที่มีเงินค่าก่อสร้างค้างเบิกจ่ายปี 2561 อยู่ 7,000 ล้านบาท จะขอโอนเปลี่ยนเป็นค่าเวนคืน เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2562 จากนั้นปี 2563-2564 จะนำเงินค่าเวนคืนที่ ครม.อนุมัติกรอบไว้แล้วไปจ่ายคืนเป็นค่าก่อสร้าง

เนื่องจากมีงานบางตอนยังไม่ได้เซ็นสัญญาก่อสร้าง คือ ตอนที่ 3 บริเวณแยกบางใหญ่ วงเงิน 2,000 ล้านบาท เนื่องจากทางสำนักงบประมาณยังไม่อนุมัติผลประมูล จะครบการยืนราคาภายในเดือน ธ.ค.นี้ ยังไม่ทราบว่าผู้รับเหมาจะยืนราคาต่อหรือไม่ ถ้าไม่ยืนจะต้องเปิดประมูลใหม่ ภายในเดือน ม.ค. 2562ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จากปี 2562-2564 คาดว่างานก่อสร้างทั้งโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดใช้เต็มรูปแบบปลายปี 2565 แต่หากตรงพื้นที่ไหนสร้างเสร็จและสามารถเปิดให้ใช้ได้จะทยอยเปิดไปก่อน