เปิดอาณาจักร “ซี.พี.แลนด์” ปักธง 7 ธุรกิจซื้ออนาคต “เมืองหลัก-ฮับตะวันออก”

จากจุดเริ่มต้นตั้งบริษัทเพื่อสร้างสำนักงานใหญ่บนถนนสีลม วันนี้ “บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)” มี network ครอบคลุมทั่วประเทศไทยเรียบร้อยแล้วจากตอนแรกที่เป็น “บริษัทลูก” ซัพพอร์ตความต้องการใช้พื้นที่ออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ ให้กับ “บริษัทแม่” เครือเจริญโภคภัณฑ์

วันนี้มีเข็มทิศมุ่งสู่การลงทุนพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์เต็มตัว โดย ซี.พี.แลนด์ดำเนินธุรกิจในนามองค์กร ซี.พี.ทั้งหมดยังมีอีกบริษัท “MQDC-Magnolias Quality Development Company” เจ้าของบริษัท “บี-ทิพพาภรณ์ อริยวนารมย์” เป็นลูกรักเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แต่สื่อสารกับสังคมว่าไม่ใช่ของ ซี.พี. แต่เป็นธุรกิจส่วนตัว

เพราะฉะนั้น จุดโฟกัสจึงอยู่ที่ ซี.พี.แลนด์เป็นหลัก โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 7+1 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

1.ธุรกิจที่พักอาศัย แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยวแบรนด์ “ทัสคานี มีนบุรี-ประชาร่วมใจ” รองรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) ที่กำลังก่อสร้างกับคอนโดมิเนียม ซึ่งโมเดลการลงทุนน่าสนใจมาก ใช้กลยุทธ์ทำแบบป่าล้อมเมือง จังหวัดไหน ทำเลใดมีโรงงาน ซี.พี.ตั้งอยู่ พนักงานมหาศาล กำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง ก็จะตามไปลงทุนสร้างห้องชุดขายแบบประกบทำเลไปเลย

ต่อเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยบูมโครงการอินฟราสตรักเจอร์ 2 ล้านล้านบาท เน้นสร้างระบบรางทั่วไทย ปลุกกระแสอสังหาฯต่างจังหวัดให้ตื่นพร้อมกันทั่วประเทศซี.พี.แลนด์ก็เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่มีการเปิดตัวคอนโดฯ 1 ล้านต้น ๆ อย่างคึกคักเหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

อัพเดตล่าสุด มีคอนโดฯมากกว่า 30 โครงการทั่วไทย จำนวน 8,000 ห้องเป็นอย่างต่ำ ได้แก่ เชียงราย ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ปราจีนบุรี ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี กรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และตรัง

2.ธุรกิจอาคารสำนักงานหรือออฟฟิศบิลดิ้ง ต้องอธิบายเป็น 2 ทำเลคือ ในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด “ออฟฟิศในกรุงเทพฯ” ย้อนไปแห่งแรกเมื่อ 37 ปีที่แล้วคือ ซี.พี.ทาวเวอร์สีลม, ตามด้วย ซี.พี.ทาวเวอร์ฟอร์จูน และ ซี.พี.ทาวเวอร์พญาไท (ซื้อสำนักงานใหญ่หลังเก่าของแบงก์ทหารไทย) ปี 2562 กำลังจะมีงอกขึ้นมาอีกแห่งคือ “ซี.พี.ทาวเวอร์ นอร์ธปาร์ค” แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)

ยังมีธุรกิจติ่งอีกแขนงคือ “ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์” ที่เพิ่งปรับโฉมเป็นไอทีไลฟ์สไตล์มอลล์ มี 600 กว่าร้านค้า ทำเลหัวมุมสี่แยกไฟแดงพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาฯ ฟากตรงข้ามกับเซ็นทรัลพระราม 9

ถัดมา “ออฟฟิศบิลดิ้งในต่างจังหวัด” แนวคิดหลักน่าจะมาจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่การค้าขาย 10 ประเทศออกแบบให้ไม่มีกำแพงภาษี-กติกาการค้ามาขวางกั้นอีก

ในขณะที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของการเดินทางเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วถึงใน AEC การออกไปตั้งสำนักงานเต็มรูปแบบในหัวเมืองภูมิภาค จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนเพื่อดักอนาคตล่วงหน้าอย่างแท้จริง

เป้าหมายต้องการเจาะลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ในกรุงเทพฯ และต้องการออกไปตั้งสาขาสำนักงานในต่างจังหวัด มีทางเลือก 2 ทางระหว่างซื้อตึกแถวทำออฟฟิศตัวเอง แต่ต้องบริหารจัดการตั้งแต่จ้าง รปภ.ไปถึงบำรุงรักษาระบบอาคารต่าง ๆ

กับอีกทางเลือกในการเช่าสำนักงาน ซี.พี.ทาวเวอร์ซะเลย ค่าเช่าเหมาจ่ายแบบ full option เพราะทีมงานสั่งสมประสบการณ์ในการบริหารอาคาร 37 ปี จนแตกออกมาเป็นบริษัทลูกคือ “บริษัท ซี.พี. ฟาซิลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด”

ปัจจุบัน ซี.พี.ทาวเวอร์ปักหมุดใน 7 จังหวัดหลักคือ พิษณุโลก ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา (หาดใหญ่)

3.ธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันให้บริการแล้ว 9 แห่ง หุ้นใหญ่คือ “สุนทร อรุณานนท์ชัย” แม่ทัพใหญ่ข้างกายเจ้าสัวธนินท์ และนั่งบริหารให้อีกหลายบริษัท รวมทั้งเทสโก้ โลตัสด้วย

ทั้งนี้ โรงแรม 9 แห่งแบรนด์หลักคือ “ฟอร์จูน” ได้แก่ แกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ (อยู่หัวมุมแยกพระราม 9), แกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช, ฟอร์จูน ราชพฤกษ์ นครราชสีมา, ฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ, ฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม, ฟอร์จูน วิวโขง นครพนม, ฟอร์จูน ดีพลัส เขาใหญ่, ฟอร์จูน ดี แม่สอด และฟอร์จูน ดี เลย

ปี 2562 วางแผนเปิดเพิ่ม 2 แห่งคือ ฟอร์จูน พิษณุโลก กับฟอร์จูน บุรีรัมย์

และปี 2563 วางแผนเปิดเพิ่ม 1 แห่ง อยู่ระหว่างตัดสินใจเลือกทำเลไหนดีระหว่างจังหวัด “ระยอง ขอนแก่น มุกดาหาร สมุทรสาคร” เพราะทุกทำเลรองรับทั้ง EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) และเมืองหน้าด่านการค้าชายแดน

4.นิคมอุตสาหกรรม กล่าวได้ว่าเป็นธุรกิจล่าสุดที่เงื้อง่ามานาน ล่าสุดได้ฤกษ์เปิดตัวเป็นทางการ โดยได้ร่วมลงนามกับ “กนอ.-การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยลงทุนในนาม “ซีพีจีซี-CPGC” พื้นที่คาบเกี่ยว 2 อำเภอคือ “บ้านค่าย-นิคมพัฒนา” จังหวัดระยอง พื้นที่ 3,068-1-15 ไร่ หักพื้นที่ส่วนกลางออกเหลือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม (พื้นที่ขาย) 2,205-3-00 ไร่

แผนธุรกิจร่วมทุนกับจีน รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม S-curve ที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต

แน่นอนว่าทำเลที่ตั้งอยู่ในแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งวินาทีนี้กลุ่ม ซี.พี.เต็งจ๋าจะเป็นผู้ชนะประมูล ทิ้งช่วงห่างจากคู่แข่งคือกลุ่มบีทีเอสแบบไม่เห็นฝุ่น

5.ธุรกิจบริหารอาคาร ในนาม “CPFM-บริษัท ซี.พี. ฟาซิลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด” ภายใต้สโลแกน Your Service Solutions, We Can Do…

โมเดลธุรกิจคือพร็อพเพอร์ตี้แมเนจเมนต์ บริหารนิติบุคคลอาคารคอนโดฯ-บ้านจัดสรร บริหารอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม

อัพเดตล่าสุด ให้บริการใน 19 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงราย ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ปราจีนบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และตรัง

6.ธุรกิจศูนย์ประชุมแสดงสินค้านานาชาติ เพิ่งมีแห่งแรกที่ขอนแก่น ในชื่อของ “KICE-KHONKAEN International Convention and Exhibition Center”

ตั้งอยู่บน ถ.มิตรภาพ ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น ทำเลใกล้สนามบินขอนแก่น ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที ให้บริการบนที่ดิน 62 ไร่ รองรับการประชุมได้ครั้งละ 10,000 คน

7.ธุรกิจพลังงาน นับเป็นการต่อยอดแตกไลน์ล่าสุด ในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์รูฟท็อป) ขนาด 1 เมกะวัตต์ บนหลังคาศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น

เบ็ดเสร็จมี 7+1 (บริหารศูนย์ไอทีมอลล์) กลุ่มธุรกิจที่ต้องถือว่าครบวงจรในหมวดพัฒนาที่ดิน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเศรษฐกิจหลักทั่วไทย

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าเทรนด์ประเทศไทยจะหันซ้ายหันขวาไปทางไหนซี.พี.แลนด์ลงทุนดักอนาคตไว้หมดแล้ว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!