โปรเจ็กต์ไฮไลต์-เผือกร้อน คมนาคม ปี 2561

คมนาคมกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ มีเม็ดเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านล้านบาท ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นปีที่เร่งสปีดผลงานกันอย่างเต็มสูบ

หวังปักหมุดทุกโปรเจ็กต์ในมือให้ครบถ้วนกระบวนความ ก่อนจะเปลี่ยนผ่านจาก “รัฐบาล คสช.” สู่ “รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง” ที่จะมารับไม้ต่อขับเคลื่อนงานในปี 2562

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูไฮไลต์ที่น่าสนใจในตลอดปีที่ผ่านมา

ขยันที่สุดในปฐพี

เริ่มจากเจ้ากระทรวง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” นับว่าเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีรัฐบาล คสช.ที่ขาเก้าอี้เสริมเหล็ก นั่งมานานร่วม 4 ปี นับจากก้าวแรกเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการวันที่ 30 ส.ค. 2557 และได้ขยับขึ้นเบอร์หนึ่งเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 แทน “บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง”

ใน 3 ปี “อาคม” มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงถึง 3 คน ล่าสุด “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตซีอีโอ ปตท. ที่คุมทางน้ำ อากาศ ทางด่วนและระบบราง

ตลอดปีที่ผ่านมา “อาคม” เดินสายลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก จดใต้ ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ เอกซเรย์งานทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่การปลูกต้นไม้ใบหญ้า จนมีฉายาประจำตัว “รัฐมนตรีที่ขยันที่สุดในปฐพี”

ขณะที่งานโครงการขนาดใหญ่ในแผนเร่งด่วนปี 2561 ทั้งบก ราง น้ำ อากาศ จัดเซตไว้ 44 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2 ล้านบาท ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องยกยอดมาผลักดันกันต่อในปี 2562

โยกสลับเก้าอี้วุ่น

ไม่ใช่แค่เก้าอี้รัฐมนตรีที่น่าสนใจ ในส่วนของเก้าอี้ปลัดกระทรวงก็เป็นที่ถูกจับตาไม่น้อย เมื่อมีม้ามืดโผล่วินาทีสุดท้ายจนทำให้ใครหลายคนที่อกหักจนต้องโบกมืออำลา เป็นที่มาการแต่งตั้งโยกย้าย 9 เก้าอี้ใหญ่

เริ่มที่เก้าอี้แม่บ้านกระทรวง ที่หวยมาออก “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ที่รั้งเก้าอี้นี้ไปครองแบบโค้งสุดท้าย

ส่งผลสะเทือน 2 แคนดิเดต “ธานินทร์ สมบูรณ์” อธิบดีกรมทางหลวง และ “สนิท พรหมวงษ์” อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางบก จนต้องยื่นใบลาออกทันทีหลังมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา

เมื่ออธิบดีกรมใหญ่ลาออก 2 คน บิ๊กคมนาคมจึงต้องโยกสลับ 8 เก้าอี้ใหม่

ตั้ง “สราวุธ ทรงศิวิไล” ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นั่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

ย้าย “อัมพวัน วรรณโก” จากผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ย้าย “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้ตรวจกระทรวง และ “สมศักดิ์ ห่มม่วง” จากรองปลัดกระทรวงเป็นอธิบดี

กรมเจ้าท่าแทน โปรโมต “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” จากผู้ตรวจกระทรวงนั่งอธิบดีกรมทางหลวง ตั้ง “พีระพล ถาวรสุภเจริญ” รองปลัดกระทรวงเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก

ถูกวิจารณ์มากที่สุด

มาดูโปรเจ็กต์ร้อนแรงแห่งปีของคมนาคม ที่เรียกเสียงวิจารณ์จากสังคมมากที่สุดตลอดปี ต้องยกให้กับ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) มูลค่าก่อสร้าง 35,000 ล้านบาท ของ บมจ.การท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

กระแสวิจารณ์ถูกจุดพลุหลัง “ทอท.” ประกาศผลให้กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสเอ-เออาร์เจ

หรือกลุ่ม “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” เป็นผู้ชนะฟาวล์การออกแบบ หลังผู้ได้คะแนนสูงสุดไม่ได้แนบ “ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจากทาง ทอท.” ตามที่ระบุ

ขณะที่แบบของ “กลุ่มดวงฤทธิ์” ที่ใช้โครงสร้างไม้เป็นหลัก หลังปรากฏสู่สายตาสาธารณชน มีเสียงดังกระหึ่มถึงการดีไซน์ที่ไปละม้ายคล้ายกับโมเดลศาลเจ้าแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นและจีน

อีกทั้งยังถูกถล่มปมที่ใช้ไม้จะทำให้เกิดการติดไฟได้ง่าย และบานปลายนำไปสู่การวิพากษ์การเสกเทอร์มินอลของ ทอท. ทำให้แผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิผิดเพี้ยน

แม้ ทอท.ยืนกรานแต่เสียงทักท้วงยังไม่คลี่คลาย ทำให้ ทอท.ขอความเห็นจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ล่าสุด บอร์ด ทอท.ระบุ ICAO ยืนยันการดำเนินเป็นไปตามแผนแม่บท จึงมีมติให้ ทอท.เดินหน้าโครงการนี้ต่อ

เพื่อความรอบคอบให้หารือคณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) มีสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินเป็นกรรมการให้ความเห็นและพิจารณาความเหมาะสมของขนาดอาคารให้สอดคล้องรับกับดีมานด์ต่อไป

ปิดดีลยักษ์ 2 แสน ล.ส่งท้ายปี

ปิดท้ายกับโปรเจ็กต์ยักษ์ที่ลุ้นกันตั้งแต่เปิดตัวโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ที่แปลงร่างมาจากรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง มีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นแม่งาน

โดยรัฐบาล คสช.หวังจะใช้รถไฟความเร็วสูงสายนี้จุดพลุแจ้งเกิดอีอีซี และนับว่าเป็นโครงการที่เนื้อหอมไม่น้อย มีเอกชนไทยและต่างประเทศมาซื้อซองประมูลมากถึง 31 ราย

ช่วงฟอร์มทีมยื่นประมูล เรียกว่า ฝุ่นตลบพอสมควร เพราะมีหลายข่าว หลายกระแสจับคู่จับกลุ่มกันอลหม่าน จนมาหยุดสุดท้ายที่ 2 กลุ่มทุนยักษ์ “กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร” และ “กลุ่มบีเอสอาร์” มีบีทีเอสเป็นหัวหอก ตบเท้ายื่นซองประมูลในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วน “กลุ่ม ปตท.” ที่มาแผ่วปลาย ถอย 1 ก้าวไปตั้งหลักขอเวลาศึกษาเทคนิคและรูปแบบธุรกิจ รอร่วมทุนกับผู้ชนะภายหลัง

ผลพิจารณาขับเคี่ยวมาถึงซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคาที่มีเงื่อนไขผู้เสนอให้รัฐสนับสนุนน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 119,425 ล้านบาท

โดยผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นตัวตั้ง คือ กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 70% บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 5% บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น (CRCC) 10% และ บมจ.ช.การช่าง กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15% ขอเงินสนับสนุนจากรัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเพดาน ครม. 2,198 ล้านบาท

และต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอส 52,707 ล้านบาท ที่เสนอขอให้รัฐสนับสนุน 169,934 ล้านบาท หากคิดเป็นจำนวนเงินรวมดอกเบี้ย 10 ปี ราคากลุ่ม ซี.พี.อยู่ที่ 149,652 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอสที่เสนอ 238,330 ล้านบาท อยู่ที่ 88,678 ล้านบาท เพื่อให้การเซ็นสัญญาเป็นไปตามแผนวันที่ 31 ม.ค. 2562 ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.คณะกรรมการคัดเลือกจะเจรจากลุ่ม ซี.พี.ในรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอพิเศษในซองที่ 4 ให้ข้อสรุปสุดท้ายที่ “วินวิน” กันทั้งคู่

เป็นการพิจารณารวดเร็วสมกับชื่อโครงการไฮสปีดเทรน ส่วนราคาจะถูกจริงอย่างที่ปรากฏคงต้องดูกันต่อไปยาว ๆ เพราะเป็นโครงการใหญ่

ที่ไม่หมูอย่างที่คิด !

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!