ช.การช่างลุ้นต่อสัมปทาน 10 ปี เมืองขยายทางด่วนศรีรัชใหม่พุ่ง 5 หมื่นคัน

แฟ้มภาพ

ช.การช่าง มีลุ้นต่อสัมปทานทางด่วน สัญญาเปิดช่องเจรจาโดยสุจริตได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี BEM ย้ำส่งหนังสือไป 5 ปีที่แล้ว รอบทสรุปผลศึกษา บอร์ด กทพ.เร่งให้จบ เม.ย.2562 เผยปริมาณจราจร เมืองขยาย ดันคนใช้ด่วนนอกเมืองพุ่ง “ศรีรัช-วงแหวนตะวันตก” เฉียด 5 หมื่นคัน “บางปะอิน-ปากเกร็ด” เพิ่ม 6.3% ส่วนในเมืองโต 0.8%

นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ธุรกิจในเครือ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัททำหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แสดงเจตนาขอต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ขณะนี้รอการพิจารณาจาก กทพ. ซึ่งจะสรุปในเร็ว ๆ นี้ จากนั้นจะมีการเจรจากับบริษัทต่อไป ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปก่อนที่อายุสัมปทานจะหมดเดือน ก.พ. 2563

“ส่วนการปรับค่าผ่านทางจะคงกำหนดในเดือน ก.ย. 2561 ยังเร็วเกินไปที่จะหารือตอนนี้ ส่วนจะปรับขึ้นหรือไม่อยู่ที่ดัชนีผู้บริโภคและนโยบายจากรัฐบาล”

ปัจจุบันปริมาณจราจรบนทางด่วนโครงข่ายที่บริษัทรับผิดชอบอยู่ที่ 1.2 ล้านเที่ยวคัน/วัน มีอัตราการเติบโตอย่างช้า ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 4-8%

พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. กล่าวว่า ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ ผลการศึกษาจะสรุปถึงแนวทางการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 กับบีอีเอ็ม จะครบกำหนดในปี 2563 ซึ่งนโยบายให้ยึดหลักตามสัญญาและกฎหมายร่วมทุนฯ 2556 ที่จะต้องจ้างบุคคลที่ 3 วิเคราะห์แนวทางการต่อสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงการที่ กทพ.จะบริหารจัดการเองจะคุ้มหรือไม่

“เมื่อได้ข้อสรุปต้องรายงานคณะรัฐมนตรีรับทราบ ขณะเดียวกัน กทพ.ต้องเจรจากับบีอีเอ็มด้วย ตามสัญญาให้เจรจาโดยสุจริต ให้แล้วเสร็จเม.ย.-ส.ค.2562 ก่อนสัมปทานหมดอายุ 6 เดือน”

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามสัญญาระบุว่าการต่อสัญญากับบีอีเอ็ม อาจจะต่อได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ตามที่เงื่อนไขของ กทพ.กับบีอีเอ็มจะตกลงกัน โดยพิจารณาประกอบกับความเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องของสิทธิตามสัญญา อัตราค่าตอบแทนของ กทพ.และบีอีเอ็ม ผลประโยชน์ต่อสาธารณชน ผู้ถือหุ้นของบีอีเอ็ม และผู้ให้กู้ ก่อนสิ้นสุดของระยะเวลาสัญญา ทั้ง กทพ.และบีอีเอ็มจะต้องเจรจากันโดยสุจริต เพื่อพยายามต่อระยะเวลาของสัญญาออกไปตามเงื่อนไขที่สองฝ่ายสามารถรับได้

“ต้องเจรจาเรื่องผลตอบแทนกันใหม่ทั้งหมด จะเป็นรูปแบบไหน ยังจะแบ่งตามสัดส่วนเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะโครงการหลังหมดสัญญาสัปมทานแล้ว จะตกเป็นของ กทพ. ส่วนการบริหารจัดการเป็นหน้าที่ของบีอีเอ็ม”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บีอีเอ็มเปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบครึ่งปี 2560 ธุรกิจทางด่วนว่ามีรายได้ 2,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 238 ล้านบาท หรือ 10.8% ซึ่งจำนวน 203 ล้านบาทเป็นรายได้ค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้นจากทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 47,600 เที่ยวคัน/วัน

ส่วนทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 15 ล้านบาท หรือ 0.8% มาจากทางด่วนนอกเมืองส่วนดี มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ทางด่วนในเมืองปริมาณจราจรเติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้ผู้ใช้ทางเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น

สำหรับทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด รายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น จำนวน 20 ล้านบาท หรือ 6.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนในเขตปริมณฑล เป็นผลให้มีเที่ยวการเดินทางเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 84,000 เที่ยวคัน/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5.39%