ดีเดย์ ก.พ.ออกเชิญชวนเอกชนลงทุนสมาร์ทซิตี้รอ “บิ๊กจิน” เคาะเกณฑ์ 7 ด้าน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประชุมคณะทำงานการประเมินการเป็นเมืองอัจฉริยะด้าน Smart Mobility (คมนาคมขนส่ง) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการของคณะ เสนอหลักเกณฑ์ 5 ข้อในที่ประชุมพิจารณา

ได้แก่ 1.การเข้าถึง คือ จะต้องมีระบบที่ทำให้คนเข้าถึงกิจกรรมในเมืองนั้นๆ ได้ เช่น จะเสนอทำเมืองอุตสาหกรรม จะต้องมีระบบคมนาคมขนส่งที่จะสามารถขนส่งสินค้าและวัตถุดิบเข้า-ออกในพื้นที่ และจะต้องขนคนรวมถึงพนักงานเข้า-ออกภายพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง

2.ความสะดวก ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ และจะต้องออกแบบเพื่อรองรับคนพิการและผู้สูงวัยด้วย (Universal Design) 3.ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หมายถึง การบริหารระบบจราจรให้คล่องตัว ไม่ให้เกิดปัญหารถติด 4.ความปลอดภัย เช่น การคิดทำเลนจักรยาน เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภายในเมือง จะต้องทำเป็นเลนเฉพาะ เพื่อลดอุบัติเหตุและกันไม่ให้รถประเภทอื่นๆเข้ามาใช้ร่วม ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นได้ และ 5.สิ่งแวดล้อม เช่น มีนโยบายสนับสนุนการใช้จักรยาน หรือส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เป็นต้น

ที่ประชุมวันนี้ (2 ม.ค.) มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้ที่จะเสนอเป็น Smart City ในส่วนของเกณฑ์ Smart Mobility จะต้องผ่านทั้ง 5 เกณฑ์นี้ โดยคะแนนรวมอยู่ที่ 100 คะแนน ต้องได้อย่างน้อย 70 คะแนน โดยทั้ง 5 ข้อจะไม่มีคะแนนย่อยแยกไปอีก แต่ก็ได้ให้ สนข.ในฐานะเลขานุการไปพิจารณามาว่า ควรจะต้องมีคะแนนย่อยในแต่ละข้อ หรือจะคิดเป็นคะแนนรวมในภาพใหญ่ไปเลย

โดยในวันที่ 4 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 Smart เป็นครั้งแรก โดยฝ่ายเลขาของแต่ละ Smart จะมาประชุมร่วมกัน เพื่อเสนอรายละเอียดหลักเกณฑ์แต่ละด้าน หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะส่งต่อให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะมีการประกาศเชิญชวนและเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. 2562 ต่อไป

“เมื่อหลักเกณฑ์ทั้ง 7 ข้อออกมาแล้ว เอกชนหรือผู้ที่สนใจจะลงทุนจะต้องไปกำหนดพื้นที่ที่จะพัฒนามา เช่น โซนสีลม ผู้ที่จะทำ Smart City กำหนดพื้นที่มาเลยว่าจะพัฒนาเท่าไหร่ แล้วไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนในย่านนั้นดูว่า เขาอยากพัฒนาให้ในธีมอะไร จากนั้นก็ไปรวมกลุ่มผู้ที่ประสงค์จะพัฒนามาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ซึ่งจะเข้าเงื่อนไขการขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไปด้วย แต่ขอบอกก่อนว่า การทำ smart City ไม่ได้มองผลกำไรสูงสุด แต่เป็นการพัฒนาเพื่อคนในเมืองที่เราจะพัฒนาเป็นหลัก” ปลัดกระคมนาคมระบุ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!