ต่อเวลา! ซี.พี.ส่งข้อเสนอเพิ่มเติมถึง 9 ม.ค.นี้ รถไฟเร่งเวนคืนที่ดินเปิดไซต์ก่อสร้างให้ทันปีนี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าฝ่ายบริหาร รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ยังไม่ได้มีการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซี.พี. เพียงแต่มาพิจารณาข้อเสนอในซองที่ 4 (ข้อเสนอเพิ่มเติม) ร่วมกันเท่านั้น

โดยเป็นการแจ้งต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้เปิดซองที่ 4 ของกลุ่มซี.พี.ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา และได้แจ้งให้ทางกลุ่ม ซี.พี.ว่า หากยังมีข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมอีก ขอให้ส่งมาในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ทางกลุ่ม ซี.พี.ตอบกลับว่า ขอเลื่อนส่งข้อเสนอเพิ่มเติมออกไปก่อน เนื่องจากวันที่ 27 กระชั้นชิดเกินไปและอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่

ทางคณะกรรมการคัดเลือกจึงเลื่อนให้ส่งข้อเสนอเพิ่มเติมเป็นวันที่ 9 ม.ค.นี้ หลังจากนั้นในวันที่ 15 ม.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อรับทราบข้อเสนอเพิ่มเติมต่อไป และจะมีการนัดกลุ่ม ซี.พี.มาเจรจาต่อไป

ส่วนข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี.นั้นยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะที่ปรึกษายังจัดหมวดหมู่ข้อมูลไม่เสร็จ บวกกับติดข้อบังคับในภาคผนวกข้อ 44 ตามทีโออาร์ห้ามเปิดเผยข้อมูล

ทั้งนี้ไทม์ไลน์เดิมที่จะเซ็นสัญญาในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ถ้าไม่ทันก็จะต้องแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบต่อไป ซึ่งถ้าเลื่อนก็คงเลื่อนไปนิดหน่อย ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วยว่าจะจบช้าหรือเร็ว เพราะการเจรจาของรัฐจะต้องรอบคอบที่สุด เนื่องจากโครงการมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ขณะที่เอกชนเขาก็ต้องการประโยชน์สูงสุดด้วย

ขณะที่การเวนคืนหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พ.ศ. ….ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง วงเงิน 3,570ล้านบาท

จะมีขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว เมื่อ พ.ร.ฎ.ประกาศก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะเร่งให้เวนคืนให้เสร็จทันการก่อสร้าง แต่หากไม่ทันก็จะทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่เวนคืนแล้วเสร็จไปก่อน

ส่วนการส่งมอบพื้นที่สำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้ง 2 ส่วนคือ พื้นที่มักกะสัน 150 ไร่ และพื้นที่ศรีราชา 25 ไร่ สำหรับศรีราชาเมื่อเซ็นสัญญาแล้ว สามารถส่งมอบได้ทั้งหมดทันที ส่วนพื้นที่มักกะสันเบื้องต้นจะส่งมอบก่อน 100 ไร่ หลังจากนั้นจะทยอยส่งมอบอีก 50 ไร่ ภายใน 5 ปี เนื่องจากจะต้องรื้อพ่วงรางรถไฟในบริเวณนี้ออกไปก่อน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!