คมนาคมเกาะติด “พายุปาบึก” เตรียมมาตรการรองรับทุกโหมดการเดินทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมพร้อมรับมือกับ “พายุปาบึก” ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ในทุกโหมดการเดินทาง

@ทย.ตั้งวอรูมเกาะติดสถานการณ์

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวถึงกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนการเกิดพายุโซนร้อน “ปาบึก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ด้านอ่าวไทยอาจมีคลื่นสูง 2 -​ 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 เมตร นั้น

กรมได้สั่งการให้ท่าอากาศยานในสังกัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่
ตรัง และนราธิวาส เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์พายุใต้ฝุ่นที่จะพัดเข้าประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 3- 6 มกราคม 2562

โดยเบื้องต้นได้เตรียมมาตรการ รองรับดังนี้

1.จัดตั้งศูนย์​ปฏิการกลาง ติดตามสถานการณ์​พายุปาบึก ณ กรมท่าอากาศยาน ​2.ท่าอากาศยานทางภาคใต้ติดตามข่าวอากาศและรายงานให้ส่วนกลางทราบเป็นระยะ 3.หากมีผลกระทบต่อเที่ยวบินที่จะทำการขึ้นลงจะหารือกับสายการบินนั้นๆ เพื่อปรับเที่ยวบินหรือยกเลิกตามความเหมาะสม 4.ประสานงานกับพื้นที่ที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่น รถยกสูง หรือเรือลำเลียงพร้อมที่จะลำเลียงออกนอกพื้นที่

5.กรณีที่ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ จะปรับพื้นที่อาคารให้เป็นที่รองรับเพื่อพักอาศัยชั่วคราว โดยประสานกับจังหวัดเพื่อเตรียมเสบียงรองรับ 6.ประสานงานกับป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมที่จะช่วยเหลือได้ตลอดเวลา

7.ท่าอากาศยาน​นครศรีธรรมราช ระนอง ตรัง ชุมพร และนราธิวาส ได้ออกประกาศขอความร่วมมือผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการท่าอากาศยาน “ห้ามจอดรถค้างคืน” บริเวณ​ลานจอดรถ เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สิน

8.ท่าอากาศยาน​สุรา​ษฎร์ธานี​ได้ออกประกาศ​ให้ผู้โดยสาร​และผู้ใช้บริการท่าอากาศยานเคลื่อนย้ายรถยนต์​ออกจากลานจอด และห้ามจอดรถในทุกกรณี เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สิน​

@ทอท.เฝ้าระวังสนามบินหาดใหญ่-ภูเก็ต

ด้านบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า มีท่าอากาศยานที่ ทอท.บริหารงานอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่ง ทอท.ได้มีการเฝ้าระวังพร้อมติดตามข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าสถานการณ์จากหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ได้มีการประชุมหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กรมอุตุนิยมวิทยา สายการบิน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ฯลฯ รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” และจัดเจ้าหน้าที่บริการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งยกเลิกเที่ยวบินแต่อย่างใด

สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ ทอท.ได้ตรวจสอบความพร้อมของรางระบายน้ำโดยรอบ รวมทั้งเตรียมการระบายน้ำเพื่อมิให้ท่วมขังในเขต Airside และเพิ่มความถี่ในการตรวจทางวิ่ง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากมีน้ำท่วมขังจะประสานศูนย์บรรเทาและป้องกันสาธารณภัย เพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จะพิจารณาจุดตั้งเครื่องสูบน้ำมิให้กระทบต่อชุมชนรอบข้าง

นอกจากนั้น ทอท.ยังได้ทดสอบความพร้อมของระบบแจ้งเตือนหากเกิดสภาพอากาศเลวร้าย (Adverse Weather) และสภาวะทัศนวิสัยต่ำ (Low Visibility) ให้มีความพร้อมใช้งาน ตลอดจนประสานสายการบินในการจอดและจัดเก็บอุปกรณ์ภาคพื้นที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยาน พร้อมทั้งตรวจสอบอากาศยานขนาดเล็กและอุปกรณ์ภาคพื้นต่างๆ ให้มีการยึดโยงเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

ในกรณีที่ระบบ FIDS (Flight Information Display System) ขัดข้อง ทอท.จะประสานกับหอบังคับการบิน เพื่อขอรายละเอียดข้อมูลของเที่ยวบินในการขึ้นลง รวมถึงเวลาของเที่ยวบินที่กำหนดลงจอด และจะแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องไปยังเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของท่าอากาศยานภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อให้บริการข้อมูลแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งยังได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิงอากาศยาน รถดับเพลิงอาคาร และอุปกรณ์กู้ภัย ในการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงเขตอากาศยานอุบัติเหตุ และพร้อมปฏิบัติการดับเพลิงได้ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รายงานว่า ขณะนี้ บขส. ยังไม่ได้รับผลกระทบสามารถเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางจังหวัดภาคใต้ได้ตามปกติทุกเส้นทาง และได้ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับพายุ “ปาปึก” อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ได้เตรียมแผนฉุกเฉินรองรับสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว หากมีการ เปลี่ยนแปลงจะประกาศให้ผู้โดยสารทราบโดยเร็วที่สุด สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมโทร Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง

@กรมเจ้าท่าแจ้งเตือนภัย

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ออกคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) โดยให้สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางน้ำ ณ ห้องศูนย์ความปลอดภัยทางน้ำ (CCTV) กรมเจ้าท่า

โดยให้มีหน้าที่และให้ดำเนินการ 1.เฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด 2.ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาประสานงานกับผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำจังหวัด 3.ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่ได้รับผลกระทบให้ออกประกาศแจ้งเรืองดการเดินเรือรวมถึงแจ้งให้เรือจอดในบริเวณที่มีกำบังคลื่นลม 4.ให้สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ เตรียมความพร้อมเรือตรวจการณ์ 130 ฟุต เตรียมพร้อมบริเวณท่าเรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือตรวจการณ์ 80 ฟุต เตรียมพร้อมบริเวณเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำเรือรองรับการเผชิญเหตุ 5.ให้ประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร กรมเจ้าท่า ตามสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในกรณีเกิดภัยจากพายุ “ปาบึก” ในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคบริหารทรัพยากรของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคและสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามนัย คำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ 908/2556 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2556 และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุทางน้ำ กรมเจ้าท่า

อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมนี้ได้ออกประกาศแจ้งเตือนภัยพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) โดยในช่วงเวลาที่พายุเคลื่อนตัวเข้ามา คลื่นลมบริเวณฝั่งอ่าวไทยและอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง และผู้ประกอบการก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลให้หยุดดำเนินการ และเตรียมการอพยพเจ้าหน้าที่และพนักงาน รวมถึงเครื่องจักรออกจากบริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้

สำหรับชาวเรืองดนำเรือออกจากฝั่ง รวมทั้งเรือที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลให้นำเรือเข้าที่กำบัง หลบพายุคลื่นลม จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2562 โดยขอให้ติดตามประกาศกรมเจ้าท่า และข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

@ทางหลวงชนบทคลอด 3 มาตรการ

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ รองรับสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก โดยให้แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ทุก 2 ชั่วโมง

พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร ป้ายเตือน สะพานเบลีย์ และยานพาหนะ พร้อมเข้าดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที รวมถึงบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังให้จัดรถโมบายช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ชั่วคราวก่อนการเคลื่อนตัวของพายุ

โดยแบ่งการเตรียมความพร้อมรับมือเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ก่อนเกิดเหตุ (Preparation)

1.1 ดำเนินการทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำ พร้อมทั้งจัดชุดลาดตระเวนเส้นทางที่มีความเสี่ยง
กรณีเกิดเหตุการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง และมีต้นไม้ล้มบนเส้นทางหลวงชนบท ให้เข้าดำเนินการเคลียร์เส้นทางโดยเร็ว

1.2 เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และตรวจสอบพื้นที่เพื่อป้องกันทางหลวงชนบทในความรับผิดชอบ (Prevention) โดยเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง/พื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ หรือเคยได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติที่ผ่านมา รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของถนนและสะพาน

1.3 เตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องมือ เครื่องจักรกล ป้ายเตือน ต่างๆ

นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าไว้ประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร ยานพาหนะ กรณีมีการร้องขอจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์

2.เมื่อเกิดเหตุ ให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด และรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบอุทกภัยให้กับผู้บริหารจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์จะดำเนินการดังนี้

2.1 กรณีน้ำท่วมสูง ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือนในบริเวณที่มีน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง ติดตั้งหลักนำทางกำหนดขอบเขตการจราจร

2.2 กรณีถนน/สะพานขาด เร่งดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์เชื่อมทาง หรือดำเนินการถมวัสดุเชื่อมเส้นทางเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้โดยเร็ว

2.3 กรณีดินไหล่เขาข้างทาง Slide ปิดทับเส้นทาง ดำเนินการนำเครื่องจักรเข้าเกลี่ยดินออกจากเส้นทาง ให้สัญจรโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการสัญจร

2.4 กรณีประชาชนเข้าที่พักอาศัยไม่ได้ จะจัดรถบรรทุกไว้ให้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย

3.หลังน้ำลด

หากเส้นทางชำรุดเสียหายจะเข้าซ่อมแซมชั่วคราวให้ประชาชนสัญจรได้ภายใน 7 วัน และสำรวจ ออกแบบ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูฯ ให้เข้าสู่สภาพปกติ ซึ่งจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร

@ราชาเฟอร์รี่ งดให้บริการ 3-5 ม.ค.

บริษัทท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) หรือ RP แจ้งว่าของดให้บริการเดินเรือในเส้นทางต่างๆ ดังนี้

​วันที่ 3 ม.ค. 2562 เส้นทางดอนสัก-เกาะสมุย, เกาะสมุย-ดอนสัก และดอนสัก-เกาะพะงัน ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 18.00 น.

​เส้นทางเกาะพะงัน-ดอนสัก ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 17.00 น.

​เส้นทางเกาะสมุย-พะงัน ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 12.00 น.

​เส้นทางเกาะพะงัน-เกาะสมุย ให้บริการเดินเรือเที่ยวสุดท้ายเวลา 14.00 น.

​วันที่ 4 ม.ค.2562 งดให้บริการเดินเรือตลอดทั้งวัน

และ​วันที่ 5 ม.ค.2562 งดให้บริการเดินเรือ ตั้งแต่เวลา 05.00-10.00 น.

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!