ฟื้นงานวิจัย-พัฒนา การรถไฟฯจับมือ สวทช.ลุยงานศึกษาเทียบชั้นต่างประเทศ

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า การลงนามด้านการวิจัยและส่งเสริมมาตรฐานการทดสอบสําหรับผลิตภัณฑ์ระบบรางร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนารถไฟยุคใหม่ จากเดิมที่ ร.ฟ.ท.จะพัฒนาวิจัยและสร้างขบวนรถเองตั้งแต่ก่อตั้งใหม่เมื่อปี 2494 จนถึงยุคหนึ่งจึงเลิกวิจัยและพัฒนา เนื่องจากไม่คุ้มค่า มาใช้การจัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียว

แต่ในปัจจุบันระบบรางในประเทศขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในการเดินทาง โดยจากที่รัฐบาลมีนโยบายลงทุนก่อสร้างมากขึ้น ทั้งระบบขนส่งสาธารณะภายในเมือง (รถไฟฟ้า) ระหว่างเมือง (ทางคู่) และรถไฟความเร็วสูง ร.ฟ.ท.จึงหันกลับมาเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาอีกครั้ง หลังจากที่หยุดพัฒนามานาน เพื่อให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ

ในระยะเริ่มต้นจะเน้นที่ระบบทางและเครื่องยนต์บางตัว ที่การรถไฟฯสามารถผลิตเองได้ก่อน แต่คงไม่ผลิตทั้งระบบ เพราะมีบางส่วนติดสิทธิบัตร อาจจะแบ่งผลิตเป็นส่วนๆก่อน โดยใช้ของที่ผลิตอยู่แล้วภายในประเทศ เพื่อต่อยอดกานผลิตในอนาคต อย่างไรก็ตามคงยังไม่คิดถึงขั้นตั้งเป็นโรงงานผลิต เพราะตลาดยังเล็ก ลงทุนไม่คุ้มค่า

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า การลงนามดังกล่าวในช่วงแรก ต้นทุนการผลิตของการรถไฟฯอาจจะไม่ได้ลดลงมาก แต่จะไปส่งเสริมการผลิตภายในประเทศแทน เช่น การผลิตรถสินค้า ตัวโครงรถสามารถใช้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศได้ หรือเหล็กคอพ่วงที่ต้องสั่งจากต่างประเทศ ก็จะพยายามใช้วัตถุดิบที่ผลอตภายประเทศมากขึ้น ส่วนชิ้นส่วนอุปกรณ์และอะไหล่ที่มีความซับซ้อนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติมก่อน

โครงการที่จะนำร่องเป็นโครงการแรกคือ การผลิตรถสินค้าทั้งคัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก ซึ่งได้พูดคุยกับสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยว่า ประเทศไทยสามารถผลิตเหล็กเหนียวได้เองหรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นการลดต้นทุนด้านการนำเข้าลงและเป็นการสร้างงานภายในประเทศด้วย โดยภายในปีนี้ทีโออาร์ เขิญชวนลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจะแล้วเสร็จ โดยจะเชิญชวนทั้งไทยและและต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า สวทช.จะเข้ามาสนับสนุนด้านการวิเคราะห์และการทดสอบชิ้นส่วนอุปกรณ์และอะไหล่ตามมาตรฐานของการรถไฟฯ และการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะยกระดับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่กระจายอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามารวมในอุตสาหกรรมระบบรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เบื้องต้น ระยะเวลาการวิจัยและพัฒนาต้องขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนของแต่ละประเภท หากเป็นชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องกลจะใช้เวลาศึกษาน้อยกว่าชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เพราะต้องใช้เวลามากขึ้นและซับซ้อนกว่า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!