ม.ค.ประมูลด่วนพระราม3เชื่อมมหาชัย ปีหมูลุยเวนคืน 2 รถไฟฟ้า 3 หมื่นล.สร้างสีส้ม-ม่วงใต้

เปิดโผโปรเจ็กต์ยักษ์คมนาคมต้อนรับปีหมู ลุยเวนคืน ประมูลก่อสร้าง รถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ กว่า 3.7 แสนล้าน รฟม.กดปุ่มสายสีส้มตะวันตก สีม่วงใต้ โมโนเรลภูเก็ต กทพ. แบ่งเคาะ 5 สัญญา 3 หมื่นล้านตัดด่วนใหม่ “พระราม 3-วงแหวน” ทางหลวงเร่งตอกเข็มมอเตอร์เวย์มหาชัย 1 หมื่นล้านเสร็จปี”64

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้กระทรวงคมนาคมจะคัดโครงการเร่งด่วน หรือ action plan ปี 2562 จำนวน 41 โครงการ วงเงินกว่า 1.77 ล้านล้านบาทในบัญชี ซึ่งมีทั้งโครงการเก่าที่ผลักดันต่อเนื่องมาจากปี 2559-2561 จำนวน 29 โครงการ และโครงการใหม่ 12 โครงการ อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่พร้อมเปิดประมูลในทันที ไม่ว่ารถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ คิดเป็นมูลค่ารวม 372,365 ล้านบาท

รฟม.กดปุ่ม 3 รถไฟฟ้า

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนลงทุนปี 2562 ของ รฟม.จะมีเวนคืนที่ดินและเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 โครงการ มูลค่ารวม 283,118 ล้านบาทประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท สายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 16.4 กม. เงินลงทุน 142,600 ล้านบาท และระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต วงเงิน 39,406 ล้านบาท

“สายสีส้มตะวันตกทำความเข้าใจกับบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว จะให้เอกชนร่วมลงทุน 1 สัญญา รูปแบบ PPP net cost 30 ปี ก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และเดินรถตลอดเส้นทางบางขุนนนท์-มีนบุรีรวม 34.6 กม. จะเสนอให้บอร์ด PPP พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ส่วนสีม่วงใต้ก็รอ พ.ร.ฎ.เวนคืน จากนั้นก็เปิดประมูลก่อสร้าง ส่วนการเดินรถจะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP gross cost เหมือนสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เดินรถให้ 30 ปี ด้านโมโนเรลภูเก็ตรอสรุปต้นทุนก่อสร้างเพื่อทำรายงาน PPP คาดว่าเปิดประมูลปลายปี”62 รูปแบบ PPP net cost 30 ปี”

สีม่วงใต้พาดผ่านพื้นที่ชั้นใน

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ในปี 2562 จะเริ่มการเวนคืนที่ดินทั้งสายสีม่วงใต้ ซึ่งรอกฤษฎีกาตรวจร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 ทั้งโครงการ มีค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท ตลอดเส้นทางมีเวนคืน 410 แปลง หรือ 102 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน มีพื้นที่เวนคืนเป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี จุดใหญ่อยู่ที่ด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก จะใช้พื้นที่สร้างที่จอดรถไฟฟ้า 50 ไร่ (เดโป้) ย่านสถานีเตาปูน แนวจะเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูนเชื่อมสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) และสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ไปตามแนวถนนตัดใหม่ แล้วลดระดับเป็นใต้ดิน ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์ จะเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก รวม 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานีเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี (สถานี 1-10) ยกระดับ 7 สถานี (สถานี 11-17) ได้แก่ สถานีรัฐสภา ศรีย่าน สามเสน หอสมุดแห่งชาติ บางขุนพรหม ผ่านฟ้า วังบูรพา สะพานพุทธ วงเวียนใหญ่ สำเหร่ จอมทอง ดาวคะนอง บางปะกอก ประชาอุทิศ ราษฎร์บูรณะ พระประแดง และครุใน ตามแผนจะสร้างเสร็จในปี 2567 เชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพฯ และนนทบุรี

สีส้มมุดใต้ดินผ่าเมือง

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ส่วนสายสีส้มตะวันตกรอ ครม.อนุมัติโครงการ จากนั้นถึงจะเริ่มเวนคืนที่ดิน มีค่าเวนคืนจากศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 14,600 ล้านบาท ตลอดเส้นทางมีเวนคืน 505 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 331 หลังคาเรือน รูปแบบจะสร้างลอดใต้ดินตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นจากบางขุนนนท์บริเวณจุดตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ ใช้แนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยงใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชแล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี

จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนราชปรารภ เมื่อถึงดินแดงแล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ตัดตรงไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินและสายสีส้มตะวันออกที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ไลต์เรลภูเก็ตปักหมุด 24 สถานี

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า รถไฟฟ้าภูเก็ตจะสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบาระบบไลต์เรล จะเริ่มเวนคืนในปี 2562 ในบางพื้นที่และเดโป้แนวมีจุดเริ่มต้นอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานีถึง จ.พังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง บน ถ.เจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลองประมาณ 200 เมตร ระยะทางรวม 58.25 กม.มี 24 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานี ที่สนามบินภูเก็ต เป็นสถานีใต้ดิน 1 สถานี ที่สถานีถลาง และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณ อ.ถลาง แบ่งสร้าง 2 เฟส เฟสแรก ท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต เฟสที่ 2 สนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ขณะที่รถไฟฟ้า จ.เชียงใหม่ และโคราชจะเริ่มดำเนินการในปี 2563

ได้ฤกษ์ประมูลด่วนพระราม 3

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 2562 จะประกาศทีโออาร์ประมูลก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 30,437 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) มาลงทุน โดยจะประมูลแบบนานาชาติ ส่วนการเวนคืนของบประมาณจากรัฐ 807 ล้านบาท มีเวนคืนช่วง 500 เมตรจากด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์เป็นที่ดิน 67 แปลง หรือ 6 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 79 หลัง

สำหรับการประมูลแบ่ง 5 สัญญาประกอบด้วย 1.งานโครงสร้างยกระดับระหว่าง กม.0+000-กม.6-369 ระยะทาง 6.9 กม. วงเงิน 7,008 ล้านบาท 2.โครงการสร้างยกระดับช่วง กม.6+369-กม.11+690.577 ระยะทาง 5.3 กม. วงเงิน 7,153 ล้านบาท 3.โครงสร้างยกระดับช่วง กม.11+690.577-กม.16+694.752 ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 6,733 ล้านบาท

4.งานสะพานบริเวณ กม.16+964.752 ถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 8,042 ล้านบาท และ 5.งานระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจรและระบบสื่อสาร วงเงิน 990 ล้านบาท จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี เสร็จในปี 2565

แนวโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อทางยกระดับถนนสาย 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ช่วง กม.13+000-กม.11+200 สร้างบนเกาะกลางถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร จนถึงด่านผ่านทางดาวคะนอง แล้วสร้างทับซ้อนบนทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงบริเวณถนนพระราม 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยแบ่งเบาการจราจรบนถนนพระราม 2 และรองรับการปิดซ่อมใหญ่สะพานพระราม 9 ที่ใช้งานมากว่า 30 ปี

เคาะ 3 สัญญามอเตอร์เวย์มหาชัย

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค.จะประกาศทีโออาร์เปิดประมูลมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. ช่วงแรกจากบางขุนเทียนถึงเอกชัย 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างบนถนนพระราม 2 ระยะทาง 10.8 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับงบประมาณแล้ว โดยเปิดประมูล 3 สัญญาพร้อมกัน เฉลี่ยสัญญาละ 2,500-4,000 ล้านบาท เริ่มสร้างในปี 2562 เสร็จปี 2564 มีทางขึ้น-ลง 3 จุดที่บางขุนเทียน วัดพันท้ายนรสิงห์ และมหาชัยเมืองใหม่ ขณะที่การเวนคืนได้งบฯ 640 ล้านบาท มีเวนคืน 2 จุด ได้แก่ 1.ด่านบางขุนเทียนและด่านมหาชัย 1 วงเงิน 300 ล้านบาท สร้างทางแยกต่างระดับ และ 2.ปั๊มน้ำมันและพื้นที่ว่างใกล้ด่านสมุทรสาคร 1 รวม 12 ไร่ วงเงิน 340 ล้านบาท สร้างทางขึ้น-ลงด่าน

ปลายปี PPP เก็บค่าผ่านทาง

ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. จะให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost 33 ปี ก่อสร้าง 3 ปี จัดเก็บค่าผ่านทางทั้งโครงการและบริหารโครงการ 30 ปี มีมูลค่าโครงการรวม 48,310 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ PPP พิจารณาภายในไตรมาสแรกปี 2562 ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติโครงการ ตั้งเป้าปลายปีนี้จะเปิดประมูล เริ่มสร้างปี 2563 เสร็จปี 2565 คาดว่ามีปริมาณจราจร 48,000 คัน/วัน เก็บค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 10+2.5 บาท/กม.รถ 6 ล้อ 16+3.2 บาท/กม. และรถมากกว่า 6 ล้อ 23+4.6 บาท/กม. จะเป็นโครงข่ายใหม่ต่อเชื่อมกับทางด่วนสายพระราม 3 ของ กทพ.จะช่วยให้การเดินทางไปยังภาคใต้คล่องตัวขึ้นในอนาคต

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!