“ท่าเรือ-ดีป้า” MOU ปั้นแหลมฉบังขึ้นแท่น Smart Port เท 100 ล้านเซตระบบคิวรถบรรทุกเสร็จปีหน้า

เมื่อวลา 11.00 น. นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกร่วม (MOU) เพื่อร่วมกันพัฒนา Smart City ที่ท่าเรือแหลมฉบังระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)

โดยนายไพรินทร์กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังมีความพร้อมในการพัฒนาเป็น Smart Port เนื่องจากมีโครงการลงทุนใหญ่อย่าง ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, อยู่ในพื้นที่อีอีซี และติดกับ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 7 ของการพัฒนาเป็น Smart City ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังจะต้องเตรียมการพัฒนาในหลายโครงการ ตัวอย่างหนึ่งคือ การบริหารจัดการคิวรถบรรทุกที่เข้ามาขนส่งสินค้าภายในท่าเรือ ส่วนหนึ่งการท่าเรือฯสามารถบริหารจัดการจนปัญหาการแออัดบริเวณหน้าท่าลดลงได้แล้ว แต่ยังขาดเรื่องการวางระบบด้านข้อมูล การลงนามร่วมในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบร่วมกัน

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณขนส่งสินค้าอยู่ 7 ล้าน TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์) ต่อปี หากโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ศักยภาพในการรองรับสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้าน TEU ต่อปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลอีกมหาศาล เพื่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชน ทางดีป้าจะมาช่วยการท่าเรือฯในจุดนี้

ด้านนายพิเชฐกล่าวว่า โครงการแรกที่จะทำคือ การวางระบบคิวรถบรรทุกภายในท่าเรือ (Truck Queuing) เบื้องต้นวางไว้ในรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เงินลงทุน 100 ล้านบาท (ดีป้า 50 ล้านบาท – เอกชน 50 ล้านบาท) เพื่อจัดลำดับคิวให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยอยู่ระหว่างการออกแบบในรายละเอียด ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า การพัฒนาที่ลงนามร่วมกันไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ดำเนินการร่วมกัน เป็นการพัฒนาไปตามแผนงานที่การท่าเรือฯเห็นว่าควรทำ

สำหรับโครงการที่จะทำต่อจากโครงการจัดระบบคิวรถบรรทุกคือ การพัฒนาการผลิตให้มีความอัจฉริยะขึ้น (Smart Manufacturing) ซึ่งจะนำระบบ Big Data มาช่วยในการวางระบบ และจะพัฒนาชุมชนที่อยู่ในแหลมฉบัง เพราะดีป้าและผู้ประกอบการเอกชนมีนวัตกรรมทางด้านนี้ จึงอยากเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีลงไปสู่ประกอบการในแหลมฉบังได้ ส่วนเรื่องการพัฒนาชุมชน ก็เริ่มพูดคุยกับประชาชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่แล้ว เพื่อสรุปปัญหาก่อน

ขณะที่ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ การท่าเรือฯ กล่าวว่า ในส่วนของการท่าเรือฯ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในไว้แล้ว ทางดีป้าจะมาต่อยอดให้ระบบต่างๆ มีความอัจฉริยะ เพราะข้อจำกัดของการท่าเรือฯที่มีพนักงานเพียงแค่ 200-300 คน และขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี ดีป้าจะมาช่วยเสริมในจุดนี้ อีกทั้งยังได้ข้อมูลจากการท่าเรือฯไปบริหารจัดการ Smart City คือ อ.ศรีราชา ที่ดูแลอยู่ใกล้กันด้วย ส่วนรูปแบบการลงทุนดีป้าจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด การท่าเรือฯเพียงอำนวยความสะดวกให้เท่านั้น

ในส่วนของการทำ Truck Queuing การท่าเรือฯจะเปิดให้บริษัทที่จะนำรถบรรทุกเข้ามาในท่าเรือต้องมีการลงทะเบียน โดยจะมีเว็บไซต์สำหรับลงทะเบียนออนไลน์ให้ และจะมีระบบการจองคิวการนำสินค้าเข้ามาภายในท่าเรือ ควบคู่ไปกับการออกมาตรการเก็บค่าฝากด้วย เพื่อลดความแออัดและจราจรติดขัดโดยรอบท่า เนื่องจากรถบรรทุกส่วนใหญ่จะนิยมมากันในวันพฤหัสพร้อมๆ กัน เพราะเรือขนส่งสินค้าจะมาถึงในวันศุกร์ – อาทิตย์ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดทั้งภายในและโดยรอบพื้นที่อย่างมาก