ความเสี่ยงสูง! ซี.พี.ยื่นสารพัดข้อเสนอพิเศษปิดจุดเสี่ยงไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน จ่อเลื่อนเซ็นสัญญา31ม.ค.นี้

นายวร​วุฒิ​ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี เสร็จเรียบร้อยแล้ว

โดยกลุ่ม ซี.พี.มีข้อเสนอเพิ่มเติมสรุปได้ทั้งสิ้น 11 ประเด็น ทางคณะกรรมการคัดเลือกรับข้อเสนอไว้ 3 ประเด็น โดยรับแบบมีเงื่อนไข 1 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการมีศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง ส่วนอีก 8 ประเด็นไม่สามารถรับได้ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ

แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการคัดเลือกจะเก็บข้อเสนอที่มีทุกข้อไว้ โดยกลุ่ม ซี.พี.จะนำข้อเสนอที่คณะกรรมการไม่รับไว้ ไปปรับเปลี่ยนเพื่อเสนอใหม่ในขั้นตอนเจรจาก็ได้ และที่สำคัญ เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาอีกรอบหนึ่ง เพราะคณะกรรมการคัดเลือกมีกรอบที่ต้องปฏิบัติตามร่างสัญญาทีโออาร์ บางข้อเสนอจึงไม่สามารถรับได้ แต่หาก กพอ.มีความเห็นว่าควรรับข้อเสนอไว้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามที่กฎหมายระบุ

ขณะที่การเจรจาคณะกรรมการคัดเลือกได้นำเอกสารข้อเสนอเพิ่มเติมที่กลุ่ม ซี.พี.ส่งมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.จำนวน 200 หน้า 108 ประเด็น มาจัดให้อยู่ในกรอบเจรจา 4 กรอบ แต่ไม่สามารถเปิดเผยกรอบทั้ง 4 กรอบได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร เพราะมีผลกับการเจรจา โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะส่งหนังสือสรุปผลการพิจารณาซองที่ 4 ให้กลุ่ม ซี.พี.ภายในวันนี้ (18 ม.ค.) ส่วนในวันจันทร์ (21 ม.ค.) จะส่งกรอบเจรจาพร้อมจดหมายตอบกลับนัดหมายวันเวลาที่จะดำเนินการเจรจาร่วมกัน เบื้องต้น คณะกรรมการาคัดเลือกขอให้เริ่มเจรจาภายในสัปดาห์หน้า แต่กลุ่ม ซี.พี.ขอหารือกับพันธมิตรที่ร่วมมือกันก่อน เพื่อหาเวลาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอซอง 4 และกรอบการเจรจา ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและติดกรอบสัญญาทีโออาร์ ส่วนข้อเสนอที่มีการนำเสนอตามหน้าสื่อ เช่น การต่อขยายไป จ.ระยองและการทำสเปอไลน์ ยอมรับว่ามีการพูดคุยกัน แต่คณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่าควรนำส่วนนี้ไปใส่ไว้ในเงื่อนไขสัญญา เพราะในสัญญาทีโออาร์ไม่ได้ระบุให้ดำเนินการในส่วนนี้ แล้วไปเปิดการเจรจาในอนาคตดีกว่า หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายสถานีก็ให้นำไปใส่ในเงื่อนไขสัญญาไปก่อนเช่นกัน

ส่วนการการันตีผลตอบแทน 6.75% ไม่มีการพูดถึง เพราะรัฐไม่สามารถการันตีผลตอบแทนให้เอกชนได้ เอกชนต้องรับรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กลุ่ม ซี.พี.ได้ชี้แจงว่า ข้อเสนอต่ำสุดที่เสนอมา 117,227 ล้านบาท เป็นข้อเสนอที่ ซี.พี.สามารถทำได้ แต่ต้องรับความเสี่ยงสูงมาก แต่ไม่ได้ขอให้รัฐมีมาตรการเพิ่มเติมทางการเงินแต่อย่างใด

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกขอให้ยึดตามสัญญาทีโออาร์ไปก่อน หากจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงต้องกลับไปดูทีโออาร์ก่อนว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และจะต้องแจ้งมาที่การรถไฟฯก่อน เพื่อให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหรือสัดส่วนการถือหุ้นต่อไป

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า จากขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้การลงนามในสัญญาที่กำหนดไว้ในวันที่ 31 ม.ค.ต้องเลื่อนออกไปแน่นอน จะเลื่อนแค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับผลการเจรจาว่าจะตกลงกันได้รวดเร็วแค่ไหน โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอเลื่อนกรอบการลงนามออกไปก่อน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!