แขวนออปชั่นการเงินไฮสปีด โยน “บิ๊กตู่” ชี้ขาดข้อเสนอซีพี

ซี.พี.ผ่านซอง 4 ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน สรุปมี 11 ข้อเสนอ รับได้ 3 ข้อ แขวนเงื่อนไขทางการเงินให้บอร์ดใหญ่อีอีซีที่มี “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะชี้ขาด การันตีผลตามข้อเสนอเอกชนหรือไม่ ลุ้นต่อประเด็นลดสัดส่วนการถือหุ้น-ต่อขยายไประยอง คาดเซ็นสัญญาไม่ทันกรอบเวลา 31 มี.ค.

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา

ซี.พี.ยื่น 11 ข้อเสนอพิเศษ

โดยกลุ่ม ซี.พี.มีข้อเสนอเพิ่มเติมสรุปได้ทั้งสิ้น 11 ประเด็น คณะกรรมการคัดเลือกรับข้อเสนอไว้ 3 ประเด็น ที่ประเมินแล้วเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงการ โดย 1 ใน 3 มีรับแบบมีเงื่อนไข 1 ประเด็น เป็นการสร้างศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางด้านระบบรางอย่างยั่งยืน อีก 8 ประเด็นไม่สามารถรับได้ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ และไม่อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกจะเก็บข้อเสนอที่มีทุกข้อไว้ โดยกลุ่ม ซี.พี.จะนำข้อเสนอที่คณะกรรมการไม่รับไว้ ไปปรับเปลี่ยนเพื่อเสนอใหม่ในขั้นตอนเจรจาก็ได้ ที่สำคัญจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาอีกรอบหนึ่ง เพราะคณะกรรมการคัดเลือกมีกรอบที่ต้องปฏิบัติตามร่างสัญญาทีโออาร์ บางข้อเสนอจึงไม่สามารถรับได้ แต่หาก กพอ.มีความเห็นว่าควรรับข้อเสนอไว้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามที่กฎหมายระบุ

ขณะที่การเจรจา คณะกรรมการคัดเลือกได้นำเอกสารข้อเสนอเพิ่มเติมที่กลุ่ม ซี.พี.ส่งมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. จำนวน 200 หน้า 108 ประเด็น มาจัดให้อยู่ในกรอบเจรจา 4 กรอบ แต่ไม่สามารถเปิดเผยกรอบทั้ง 4 กรอบได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร เพราะมีผลกับการเจรจา

นัดเจรจา 25 ม.ค.นี้

“คณะกรรมการคัดเลือกจะส่งหนังสือสรุปผลการพิจารณาซองที่ 4 ให้กลุ่ม ซี.พี. และตอบกลับกรอบเจรจาพร้อมจดหมายตอบกลับนัดหมายวันเวลาที่จะดำเนินการเจรจาร่วมกัน เบื้องต้น คณะกรรมการคัดเลือกขอให้เริ่มเจรจาภายใน 25 ม.ค.นี้ แต่กลุ่ม ซี.พี.ขอหารือกับพันธมิตรก่อน และจะหาเวลาที่เหมาะสมต่อไป”

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอซอง 4 และกรอบการเจรจา ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และติดกรอบสัญญาทีโออาร์

ส่วนข้อเสนอที่มีการนำเสนอตามหน้าสื่อ เช่น การต่อขยายไป จ.ระยอง และการทำสเปอร์ไลน์ การย้ายตำแหน่งสถานี ยอมรับว่าพูดคุยกัน แต่คณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่าควรนำส่วนนี้ไปใส่แนบท้ายในเงื่อนไขสัญญา เพราะในสัญญาทีโออาร์ไม่ได้ระบุให้ดำเนินการในส่วนนี้ แล้วไปเปิดการเจรจาในอนาคตดีกว่า

ไม่มีการันตีผลตอบแทน

“การการันตีผลตอบแทน 6.75% ไม่มีการพูดถึง เพราะรัฐไม่สามารถการันตีผลตอบแทนให้เอกชนได้ เอกชนต้องรับรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กลุ่ม ซี.พี.ได้ชี้แจงว่า ข้อเสนอต่ำสุดที่เสนอมา 117,227 ล้านบาท เป็นข้อเสนอที่ ซี.พี.สามารถทำได้ แต่ต้องรับความเสี่ยงสูงมาก แต่ไม่ได้ขอให้รัฐมีมาตรการเพิ่มเติมทางการเงินแต่อย่างใด”

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกขอให้ยึดตามสัญญาทีโออาร์ไปก่อน หากจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงต้องกลับไปดูทีโออาร์ก่อนว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และจะต้องแจ้งมาที่การรถไฟฯก่อน เพื่อให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือสัดส่วนการถือหุ้นต่อไป

เลื่อนเซ็นสัญญา

“การพิจารณาข้อเสนอต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด และต้องดูเป็นภาพรวมทั้งโครงการ ซึ่งจากขั้นตอนทั้งหมดจะทำให้การลงนามสัญญาที่กำหนดไว้ วันที่ 31 ม.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปแน่นอน จะเลื่อนนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับผลการเจรจาว่าจะตกลงกันได้รวดเร็วแค่ไหน โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ขอเลื่อนกรอบการลงนามออกไปก่อน”

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอซอง 4 ทางกลุ่ม ซี.พี.มีสิทธิเสนอ แต่การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคัดเลือกจะรับหรือไม่รับ ซึ่งข้อเสนอไหนที่ผิดไปจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทีโออาร์ และขัดกับความเป็นธรรมกับรายอื่น ยังไงคณะกรรมการคงไม่รับพิจารณา เช่น การให้รัฐการันตีกำไร 6.75% การขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนในปีแรก เป็นต้น

รัฐรับ 3 ข้อเสนอยั่งยืน

“กลุ่ม ซี.พี.มีข้อเสนอทุกเรื่องในซองที่ 4 เพื่อยื่นเสนอเผื่อไว้เจรจากับรัฐ และปิดจุดเสี่ยงของโครงการ ที่สุดแล้วรัฐคงให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ และมติ ครม. อย่างการจ่ายเงินอุดหนุน 10 ปี ก็ต้องเริ่มปีที่ 6-15 ส่วนข้อเสนออื่น ๆ อะไรที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ รัฐจะรับไว้พิจารณามี 3 เรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืน คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบราง การจ้างงาน และศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงงานประกอบรถไฟฟ้า”

นอกจากนี้ กลุ่ม ซี.พี.ยังเสนอรายได้เพิ่มเติมให้รัฐอีกปีละ 30 ล้านบาท รวม 10 ปี เป็นวงเงิน 300 ล้านบาท อีกทั้งยังเสนอผลตอบแทนรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 159 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ ให้รัฐเพิ่มเติมจากค่าเช่าที่ดิน ในกรณีที่มีรายได้เกินจากที่ประมาณการไว้เป็นระยะเวลา 10 ปี เกือบ 10,000 ล้านบาท นอกเหนือจากค่าเช่าที่จ่ายให้ตลอดอายุสัญญา 50 ปี 56,138 ล้านบาทแล้ว

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสาร ทางกลุ่ม ซี.พี.เสนอมาใกล้เคียงกับผลการศึกษาที่ ร.ฟ.ท.ศึกษาไว้ โดยในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกเปิดบริการ จะมีผู้โดยสารช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 103,920 เที่ยวคนต่อวัน และช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง อยู่ที่ 65,630 เที่ยวคนต่อวัน ด้านอัตราค่าโดยสารจากมักกะสัน-พัทยาอยู่ที่ 270 บาท/เที่ยว และจากมักกะสัน-อู่ตะเภาอยู่ที่ 330 บาท/เที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพันธมิตรของกลุ่ม ซี.พี. ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ถือหุ้น 5% บริษัท CRCC ถือหุ้น 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือหุ้น 15% ส่วน ซี.พี.ถืออยู่ 70% เมื่อการเจรจาได้ข้อยุติ ทางกลุ่ม ซี.พี.ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ SPV ขึ้นมาดำเนินการโครงการตลอดอายุสัญญา 50 ปี

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!