“เจริญ”รื้อลงทุนที่ดินเกษตร-นวมินทร์ พับศูนย์ประชุมขึ้นโปรเจ็กต์”มิกซ์ยูส-ศูนย์การค้า”

รอจังหวะ - ที่ดินกว่า 100 ไร่ติดถนนเกษตร-นวมินทร์ (ด้านขวามือ) หน้ากว้าง 300-400 เมตรของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" มีแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์ประชุมและโรงแรม ล่าสุดเตรียมปรับรูปแบบการพัฒนาใหม่ให้สอดรับกับสภาพพื้นที่ ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจากแคราย-ลำสาลี และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือพาดผ่าน
เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ชะลอแผนลงทุน 8 พันล้าน ที่ดิน 100 ไร่ย่านเกษตร-นวมินทร์ รอจังหวะตลาด ปรับรูปแบบโมเดลการพัฒนาใหม่ ทุ่มสร้างโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสขนาดใหญ่มีโรงแรม ศูนย์การค้าเกตเวย์ รับทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” ดีเดย์ปลายปีลุยเปิด “ตะวันนา มาร์เก็ต บางพลี” เร่งขยายท่าเรือเอเชียทีคเพิ่มเป็น 2 ชั้น เดินหน้าขยายลาซาล อเวนิว เฟส 2 รีโนเวตพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำและงามวงศ์วาน

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบันปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ จากพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เป็นพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) สามารถพัฒนาพื้นที่อาคารได้ 7 : 1

ขณะที่รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท ลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออกแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ มีแผนเริ่มการก่อสร้างในปี 2564 และแล้วเสร็จในปี 2567

ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่มีที่ดินรอพัฒนา เริ่มมีความเคลื่อนไหวเตรียมแผนลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ ๆ มารองรับ ล่าสุดกลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังรีโมเดลการพัฒนาที่ดินกว่า 100 ไร่ติดถนนเกษตร-นวมินทร์ เยื้องกับโครงการนวมินทร์ ซิตี้ อเวนิว ให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดิน

“เจริญ” ผุดศูนย์การค้ายักษ์

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันทางกลุ่มกำลังปรับโมเดลการพัฒนาที่ดินย่านเกษตร-นวมินทร์ใหม่ ในภาพรวมทั้งหมด จากเดิมจะพัฒนาเป็นศูนย์ประชุมและโรงแรม สำหรับโมเดลใหม่จะเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ จะมีรีเทลเข้ามาด้วย อยู่ระหว่างพิจารณา จะเป็นศูนย์การค้าเกตเวย์หรือลาซาล อเวนิว

“การลงทุนอาจจะยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ รอจังหวะที่เหมาะสม เพราะอนาคตจะมีทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนพาดผ่าน ก็ต้องพิจารณาว่าจะลงทุนพัฒนาเป็นโครงการอะไรถึงจะเหมาะสม แต่ไม่ใช่โครงการเล็ก ๆ แน่นอน เพราะที่ดินแปลงใหญ่มาก แต่เป็นมิกซ์ยูสแน่ ๆ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับแผนในปีนี้ ในไตรมาส 4 มีเปิดศูนย์การค้าตะวันนา มาร์เก็ต บางพลี บนที่ดิน 26 ไร่ ที่ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1,000 ล้านบาท และลงทุนขยายศูนย์การค้าลาซาล อเวนิว เฟส 2 หลังลงทุน 350 ล้านบาท เปิดเฟสแรกพื้นที่ 19 ไร่ได้รับการตอบรับจำนวนมาก

นอกจากนี้จะพัฒนาท่าเรือเอเชียทีคเพิ่ม เป็นท่าเรือ 2 ชั้นรูปตัวยู เนื่องจากท่าเรือปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการเดินทางมายังโครงการ พร้อมเปิดให้บริการภายในปีนี้ รวมถึงจะรีโนเวตศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำและงามวงศ์วานให้เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ด้านไอทีมากขึ้น เช่น เพิ่มโซนกล้อง ของเล่น รวมถึงเตรียมลงทุนเอเชียทีคเฟส 2 ที่จะนำพื้นที่ลานจอดรถของเอเชียทีคปัจจุบันพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มีโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยว โดยใช้เชนของเครือ Marriott อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม

รื้อโมเดลลงทุนใหม่

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทของนายเจริญได้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างโครงการย่านเกษตร-นวมินทร์ เมื่อปี 2553 ในนามบริษัท ทีซีซี นวมินทร์ภูมิพัฒน์ จำกัด พัฒนาเป็นอาคารขนาดใหญ่สูง 28 ชั้น และใต้ดิน 1 ชั้น มีโรงแรม สำนักงานให้เช่า ห้องแสดงสินค้าและที่จอดรถ 2,289 คัน รวมพื้นที่อาคาร 262,000 ตร.ม. โดยที่ผ่านมาได้มีการต่ออายุใบอนุญาตมาหลายครั้ง และจะหมดอายุเดือน พ.ย. 2562 นี้ ถ้าหากไม่มายื่นต่อใบอนุญาตจะถือว่าใบอนุญาตดังกล่าวสิ้นสุดและไม่สามารถก่อสร้างตามรูปแบบเดิมได้

“ปัจจุบันที่ดินดังกล่าว ทางบริษัทได้ล้อมรั้วไว้ แต่ยังไม่มีการก่อสร้างแต่อย่างใด ซึ่งเท่าที่ทราบบริษัทจะปรับรูปแบบการพัฒนาโครงการใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่รีเทลด้วย หากมาต่อใบอนุญาตจะสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ ไม่ต้องเริ่มทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอใหม่ เพราะศูนย์การค้าไม่อยู่ในข่ายที่ต้องทำอีไอเอ”

ขอปรับสีผังเมืองเพิ่ม

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักผังเมือง กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มนายเจริญ ยื่นความประสงค์จะขอเปลี่ยนสีผังเมืองรวมในพื้นที่เกษตร-นวมินทร์ในบางโฉนดเพิ่ม เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่รองรับกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลซึ่งจะมีสถานีจอดอยู่บริเวณแยกเสนานิคม จากเดิมเมื่อปี 2556 ผังเมืองได้ปรับพื้นที่จากสีเหลืองเป็นสีแดงให้แล้ว ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แล้วในบริเวณนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มนายเจริญออกแบบพัฒนาที่ดิน 100 ไร่ย่านเกษตร-นวมินทร์ แบ่งเป็น 2-3 เฟส ใช้งบฯลงทุนรวม 7,000-8,000 ล้านบาท เฟสแรกจะก่อสร้างเป็นอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า พื้นที่ทั้งหมด 200,000 ตร.ม. จะแยกพัฒนาส่วนแรกก่อน 60,000 ตร.ม. ส่วนเฟส 2-3 พัฒนาอาคารสำนักงานและโรงแรมกว่า 200 ห้อง

เปิด 20 สถานีสายสีน้ำตาล

สำหรับ 20 สถานีของสายสีน้ำตาล ได้แก่ 1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมกับสายสีม่วง 2.สถานีจุฬาเกษม ระหว่างห้างพันธุ์ทิพย์กับเดอะมอลล์ 3.สถานีคลองลาดยาว 4.สถานีชินเขต 5.สถานีบางเขน เชื่อมกับสายสีแดง 6.สถานี ม.เกษตรฯ ประตู 2 7.สถานี ม.เกษตรฯ 8.สถานีคลองบางบัว 9.สถานีลาดปลาเค้า 10.สถานีเสนานิคม 11.สถานีโรงเรียนสตรีวิทยา 2 12.สถานีต่างระดับฉลองรัช เชื่อมสายสีเทา

13.สถานีคลองลำเจียก 14.สถานีนวลจันทร์ 15.สถานีแยกนวมินทร์ 16.สถานีโพธิ์แก้ว 17.สถานีอินทรารักษ์ 18.สถานีนวมินทร์ภิรมย์ 19.สถานีสนามกีฬาคลองจั่น 20.สถานีลำสาลี เชื่อมสายสีส้มและสีเหลือง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!