สู้ไม่ถอย! สหภาพการทางฯยื่น6ข้อ ค้านต่อสัมปทานทางด่วน37ปี แลกเคลียร์หนี้1.3แสน-บอร์ดรับไม่มีอำนาจเคาะ

เมื่อเวลา 13.00 น. ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) พร้อมพนักงาน กทพ.กว่า 300 คน ยื่นหนังสือยืนยันจุดยืนคัดค้านมติคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดการทาง) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561

ที่ให้ขยายอายุสัญญาสัมปทาน ทางด่วนขั้น 2 ออกไปอีก 37 ปี แลกกับจ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM) พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขัน และกรณีข้อพิพาท การปรับค่าผ่านทาง ซึ่งมีวงเงินรวมกันประมาณ 137,000 ล้านบาท

สำหรับจุดยืนของสหภาพฯมีทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่

1.ข้อพิพาทที่มีกับ BEM แล้วศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว กทพ.ควรหาวิธีชำระเงินที่เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป

2.การขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ตามสัญญาข้อที่ 21 กทพ.ควรนำมาบริหารเองหลังหมดสัญญาในปี 2563 ซึ่งรวมถึงทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดด้วย

3.ข้อพิพาทที่มีกับ BEM ให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลทั้งหมด เนื่องจากจำนวนเงินที่ฟ้องร้องมีมูลค่าสูงมาก และอัยการสูงสุดเคยแจ้งในคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยการปรับค่าผ่านทางปี 2546 กทพ.สามารถยื่นเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองได้

4.ข้อพิพาทในส่วนของทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้ดำเนินการตามข้อ 3

5.ยกเลิกมติบอร์ดการทางวันที่ 20 ธ.ค.2561 และมติที่เกี่ยวข้อง

6.ยกเลิกการนำมติบอร์ดการทางเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2561 เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2, คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด หรือคณะกรรมการอื่นใด จนกว่าจะดำเนินการชัดเจนในประเด็นต่างๆ

นอกจากนี้สหภาพฯยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมย่อยในวันนี้จำนวน 5 ข้อ ได้แก่

1.วันสิ้นสุดสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ให้รอคำตอบจากสำนักอัยการสูงสุดก่อน

2.การลงบัญชีขอให้รอคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อความชัดเจนก่อนดำเนินการใดๆ

3.การสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 32,000 ล้านบาท ขอให้รอผลการศึกษาจากฝ่ายนโยบายและแผนก่อนว่าจะสามารถแก้ปัญหาจราจรได้จริงหรือไม่

4.การแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทและดำเนินงานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ทั้ง 3 ฉบับ ขอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบให้รอบคอบและรอบด้าน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

และ 5.หากท้ายที่สุดแล้วจะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้ทบทวนการต่อสัญญาสัมปทานที่ให้อายุสัญญาถึง 37 ปีลงมา

@บอร์ดชี้ไม่มีอำนาจตัดสินใจ

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมด้วยนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่ากทพ.เดินทางมารับหนังสือดังกล่าวด้วยตัวเอง โดยระบุว่า ยืนยันว่าบอร์ดอยู่ข้างเดียวกับสหภาพฯ และไม่ได้เป็นศัตรูกับสหภาพฯ โดยจะนำข้อเสนอของสหภาพฯไปยื่นต่อ สตง. กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เพื่อตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม บอร์ดการทางไม่มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ต้องให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด เป็นผู้ตัดสินใจ