บอร์ดกทพ.-สหภาพซื้อเวลาถกปมสัมปทานทางด่วน 37 ปี BEM

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากมติคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วันที่ 20 ธ.ค. 2561 อนุมัติแนวทางแก้ปัญหาจ่ายค่าชดเชยให้กับ บจ.ทางด่วนกรุงเทพเหนือ (NECL) บริษัทลูกของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัปมทานทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จำนวน 4,300 ล้านบาท กรณีแพ้คดีสร้างทางแข่งขัน โดยใช้แนวทางเจรจา BEM ในภาพรวมแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น ยุติข้อพิพาทมูลค่า 137,515.6 ล้านบาท การขยายอายุสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ของ BEM จะสิ้นสุดวันที่ 27 ก.พ. 2563 โดยเห็นชอบขยายอายุสัญญาที่ BEM รับสัมปทานทุกโครงข่ายทั้งทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วน D ช่วงพระราม 9-ศรีนครินทร์ และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดวันที่ 1 พ.ย. 2569 ออกไป 37 ปี ให้สิ้นสุดสัญญาพร้อมกันปี 2600 นับจากปี 2563 ส่วนค่าผ่านทางให้ปรับ 10 บาททุก 10 ปี แบ่งรายได้ให้ กทพ. 60% ตลอดอายุสัญญาและให้ BEM ลงทุน 32,000 ล้านบาท สร้างทางด่วน 2 ชั้นช่วงประชาชื่น-อโศก 17 กม. แก้รถติด ซึ่งบอร์ดนำมติเสนอให้คณะกรรมการกำกับโครงการพิจารณาก่อนเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ขณะที่ความเคลื่อนไหวของสหภาพและพนักงาน กทพ.ได้ออกมาคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาได้จัดชุมนุมระหว่างมีการประชุมบอร์ดและยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกมติเดิม แต่บอร์ดไม่รับพิจารณา จึงยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่บอร์ดทั้งคณะที่ห้องประชุมเพื่อเจรจากับนายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ด และนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.

นายสุรงค์กล่าวว่า ผลเจรจากับพนักงานและสหภาพได้ข้อสรุปในบางประเด็น จะมีประชุมบอร์ดพิจารณายกเลิกมติเดิม แต่ยังไม่กำหนดวันประชุม ต้องรอดูความพร้อมข้อมูลและคณะกรรมการ และตั้งคณะทำงานร่วมกันศึกษาหาข้อมูลใหม่ แต่ระหว่างนี้ยังยึดตามมติเดิม หากว่าคณะทำงานมีข้อมูลใหม่ที่ดีกว่าเดิม จะพิจารณาและเจรจากับ BEM ใหม่ ส่วนการจ่ายค่าชดเชย 4,300 ล้านบาท บอร์ดไม่มีอำนาจ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง

นายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด กล่าวว่า คณะกรรมการมีอำนาจแค่เห็นชอบแนวทางในเบื้องต้นได้เห็นชอบแนวทางการเจรจากับ BEM น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการกำกับฯให้บอร์ดกลับมาดูมติให้มีความถูกต้องและมีการรับรองแนวทางดำเนินการที่ชัด เพราะมีกรรมการบางคนยังไม่เซ็น และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ช่วยตรวจสอบการคำนวณที่มาของภาระหนี้ 137,515 ล้านบาท อายุสัมปทานและผลตอบแทนอีกครั้ง

ที่ผ่านมาที่ปรึกษาเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ดูภาพรวมทุกอย่างทั้งข้อพิพาท การลงทุนใหม่ อายุสัมปทานจะยาวอยู่ที่ 37 ปี และ 2.ดูเฉพาะข้อพิพาท ไม่มีลงทุนใหม่ อายุสัมปทานจะสั้นอยู่ที่ 15 ปี ซึ่งบอร์ดมีมติเลือกการแก้ปัญหาภาพใหญ่ จึงเป็นที่มาทำไมต้อง 37 ปี ยังเป็นการตัดสินใจระดับบอร์ด อยู่ที่การตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย