“คมนาคม-แอร์บัส” MOU พัฒนาบุคลากรการบิน-ซ่อมบำรุง-ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานป้อน EEC

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 เวลา 11.00 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาบุคลากรการบิน ด้านการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ระหว่างสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กับ บริษัท Airbus, บริษัท Triumph Aviation Services Asia, บริษัท Triumph Structures (Thailand) และบริษัท Senior Aerospace (Thailand)

โดยลงนามรวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Airbus ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลก เรื่องการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA Part 147) รวมถึงหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี

2. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Senior Aerospace (Thailand) ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพสูง เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน การซ่อมบำรุงอากาศยาน และประสานความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการซ่อมบำรุงอากาศยาน

3. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Triumph Aviation Services Asia ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักด้านการออกแบบ ผลิตและซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน เรื่องร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม โดยเฉพาะด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน การซ่อมบำรุงอากาศยาน ร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาของ สบพ. เพื่อนำเอาความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศมาพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการบินของประเทศ

4. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Triumph Structures (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและซ่อมแซมชิ้นส่วนโครงสร้างอากาศยาน เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง การจัดสัมมนาและการฝึกอบรมร่วมกัน หรือการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาของ สบพ.

นายอาคมกล่าวว่า สบพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน การซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งการลงนาม MOU ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)

ที่เร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ บริเวณพื้นที่ภายในสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในประเทศไทยไปสู่ระดับโลก