บีบ”ซีพี”ต่อรองทิ้งทวนไฮสปีด รถไฟเร่งเกมเซ็นสัญญามี.ค.

แฟ้มภาพ
ยกแรกยังไม่จบ ซี.พี.เจรจารายละเอียดสัญญาร่วมทุนไฮสปีด ขอความร่วมมือห้ามเปิดเผยข้อมูล จนกว่าจะได้ข้อยุติ หวั่นส่งผลต่อภาพลักษณ์ไม่ดีต่อองค์กร เผยกลุ่ม ซี.พี.ยื่นข้อเสนออีกเพียบ คณะกรรมการคัดเลือกนัดถกต่อ ให้สมประโยชน์รัฐ-เอกชน หากไม่ลงตัว เชิญกลุ่มบีทีเอสเจรจาทันที หวังปิดดีลเสนอบอร์ดอีอีซีเคาะ เซ็นสัญญา มี.ค.นี้ บิ๊กบีทีเอสพร้อมคุยทุกประเด็น

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท เชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) ผู้เสนอวงเงินให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ร่วมประชุมนัดแรกเพื่อเจรจารายละเอียดเงื่อนไขที่กลุ่ม ซี.พี.เสนอเพิ่มกว่า 200 หน้า 108 ประเด็น หาข้อยุติก่อนยกร่างสัญญา มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมประชุมด้วย โดยใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมง แต่ยังไม่มีข้อสรุป

ซี.พี.ห้ามเผยข้อมูลเจรจา 

รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกหยิบกรอบการเจรจาที่ยากที่สุดมาเจรจาก่อน โดยเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ และคณะกรรมการคัดเลือกไม่มีอำนาจพิจารณา เช่น เงื่อนไขด้านการเงินที่จะปิดสุดเสี่ยงของโครงการ การจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ

“การเจรจายังไม่จบ คงต้องเจรจากันอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งท่าทีของกลุ่ม ซี.พี.ก็ยังไม่ถอย เพียงแต่จะเจรจาอย่างไรให้ข้อเสนอที่ลงตัวกันระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้กลุ่ม ซี.พี.ได้ขอความร่วมมือให้คณะกรรมการคัดเลือกอย่าเพิ่งให้ข่าวออกไปก่อนจนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ เนื่องจากบางอย่างยังสามารถพลิกแพลงได้อีก หากมีข่าวออกไปโดยที่การเจรจายังไม่ยุติจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหายได้”

เงื่อนไขสัญญาละเอียดยิบ 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาให้กลุ่ม ซี.พี.ผ่านการพิจารณาซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพของโครงการไปแล้ว ขณะนี้เข้าสู่การเจรจารายละเอียดข้อเสนอต่าง ๆ ก่อนจะมีการลงนามสัญญา จะเป็นเงื่อนไขทุกอย่างที่บรรจุในสัญญาร่วมทุนที่ต้องบังคับใช้ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี ไม่ใช่แค่รถไฟความเร็วสูง ยังมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เอกชนผู้ชนะจะต้องบริหารการเดินรถและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ กับสถานีศรีราชา 25 ไร่อีกด้วย

รายละเอียดของสัญญามีตั้งแต่คำจำกัดความ วันเริ่มต้นสัญญา เหตุบอกเลิกสัญญา ส่วนแบ่งรายได้ ค่าปรับ ค่าชดเชย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเซ็นสัญญาก่อสร้างภายในเดือน มี.ค.นี้ ตามที่บอร์ดอีอีซีตั้งเป้าไว้

“เป็นการเจรจาครั้งแรก นำข้อเสนอที่ ซี.พี.ส่งเพิ่มเติมเมื่อ 9 ม.ค. เป็นเอกสาร 200 หน้า 108 ประเด็น มาเป็นประเด็นการเจรจาหลัก มีประมาณ 30-40 ข้อ เจรจาเรื่องยาก ๆ ก่อน แต่เปิดเผยกรอบการเจรจาและรายละเอียดที่ไม่ได้ เพราะมีข้อห้าม ซึ่งผมก็ถูกผู้ใหญ่ดุเรื่องการให้ข้อมูลด้วย เพราะอาจจะมีผลกับการเจรจาต่อรองกันได้ บอกได้แค่ว่า การเจรจาเป็นไปด้วยดี เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในด้านแนวคิด ทาง ซี.พี.อธิบายรายละเอียด ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เขาคิดว่าสมเหตุสมผลในการเป็นผู้ร่วมลงทุน ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ”

เจรจาจบกลาง ก.พ.นี้

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า ช่วงเช้าวันที่ 1 ก.พ.นี้คณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมเป็นการภายใน จากนั้นช่วงบ่ายจะเชิญกลุ่ม ซี.พี.เจรจากันต่อเป็นครั้งที่ 2 จะได้ผลสรุปหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ต้องรอให้เคลียร์ทุกอย่างก่อน ยังมีเงื่อนไขอีกมาก เนื่องจากเป็นข้อเสนอและความเห็นของเอกชน ที่พันไปกันหมดทุกข้อรวมถึงภาคผนวกด้วย ต้องใช้เวลาคุยกันให้รอบคอบ แต่คาดว่าคงไม่หลายครั้งเหมือนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คาดว่าการเจรจาน่าจะได้ข้อสรุปก่อนหรือกลางเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นจะส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะ

รายงานผลการเจรจาให้บอร์ดอีอีซีรับทราบถึงภาพรวมการเจรจาทั้งหมด รวมถึง 11 ข้อเสนอพิเศษในซองที่ 4 ที่กลุ่ม ซี.พี.เสนอ ซึ่งใน 11 ข้อ ทางคณะกรรมการคัดเลือกรับไว้พิจารณา 3 ข้อ เช่น การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบราง

“ส่วนตัวไม่หนักใจอะไรกับโครงการนี้ เพราะมีคณะกรรมการที่เข้าใจกันดี เป็นเรื่องธรรมดาของการเจรจาร่วมทุนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่รัฐและเอกชนจะมีมุมมองต่างกัน ก็ต้องเจรจากันให้สุดทาง จนคุยกันไม่สำเร็จ ภาครัฐก็ต้องรักษาผลประโยชน์ พิจารณาให้รอบคอบ อาจจะต้องใช้เวลานานอยู่แล้ว ส่วนเอกชนก็ต้องสู้เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดของธุรกิจ ทั้งนี้หากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.ได้ จะเชิญกลุ่มบีทีเอสผู้เสนอวงเงินขอให้รัฐสนับสนุน 169,934 ล้านบาทมาเจรจาต่อไป”

รอลุ้นรายงานอีไอเอ

สำหรับความคืบหน้าการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นายวรวุฒิกล่าวว่า ภายในเดือน ก.พ.นี้จะส่งรายงานอีไอเอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 11 ข้อเสนอพิเศษที่กลุ่ม ซี.พี.เสนอให้รัฐ มี 3 ข้อที่คณะกรรมการคัดเลือกรับพิจารณา คือ การสร้างศูนย์ความเป็นเลิศ โรงงานประกอบรถไฟฟ้า และพัฒนาโครงการร่วมกับชุมชน อีก 8 ข้อเสนอ มีไม่รับพิจารณา ได้แก่ การันตีผลตอบแทนโครงการ 6.75% ต่อปี ขอรัฐจ่ายค่าอุดหนุนปีแรก ขอรัฐสนับสนุนแหล่งเงินที่เหมาะสม ปรับบางช่วงสร้างเป็นทางระดับดิน ส่วนการขยายเส้นทางอู่ตะเภา-ระยอง สร้างเส้นทางย่อยเชื่อมสถานี ย้ายตำแหน่งสถานี ลดสัดส่วนการถือหุ้น จะเป็นข้อเสนอที่นำมาพิจารณาภายหลังได้โดยใส่ไว้ในแนบท้ายสัญญา เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกมองว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่ในขั้นเจรจา และเอกชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้ในฐานะผู้ร่วมลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ เช่น การย้ายตำแหน่งสถานีในทีโออาร์ก็เปิดทางให้เอกชนเสนอได้

BTS พร้อมเจรจาทุกประเด็น 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า กลุ่มบีเอสอาร์เสนอราคาประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสูงกว่ากลุ่ม ซี.พี. ขอยืนยันว่าเป็นราคาที่ดำเนินการได้และมาจากการคำนวณบนพื้นฐานข้อเท็จจริงตามที่ทีโออาร์กำหนด ทั้งนี้ด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่จึงทำให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง ซึ่งกลุ่มบีทีเอสอาจจะเสียเปรียบกลุ่ม ซี.พี.ในด้านนี้

“ยินดีกับกลุ่ม ซี.พี.ด้วยที่ชนะประมูล เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โครงการจะได้เริ่มต้นเสียที แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ กลุ่มบีทีเอสก็พร้อมเจรจา เพราะเป็นอาชีพของเราอยู่แล้ว แม้ว่าโครงการนี้จะทำไม่ง่ายก็ตาม”

คลิกอ่านเพิ่มเติม… รีวิวไฮสปีดเทรนไทยแลนด์ ซี.พี.ทุ่มแสนล้านปลุก EEC ไทย-จีนอืด “เจริญ” รอตีตั๋วสายใต้ไปสุราษฎร์ฯ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!