ตั้งอนุฯถกไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน”กลุ่มซี.พี.”ขอรัฐอุดหนุนเร็วขึ้น-เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่มักกะสัน-ศรีราชา

นายวร​วุฒิ​ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) (แฟ้มภาพ)
นายวร​วุฒิ​ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2562 คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้นัดหมายกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซี.พี.ในฐานะผู้เสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด 117,227 ล้านบาท มาเจรจาครั้งที่ 2 โดยเป็นการพูดคุยในกรอบเจรจาที่ 1 เรื่องที่ตกลงกันยากก่อน

“ภาพรวมถือว่าเป็นไปด้วยดี เชื่อว่าการเจรจายังสามารถไปต่อได้ และส่วนตัวก็ไม่ถอดใจ เพราะถือว่าแต่ละฝ่ายเริ่มมีความเข้าใจในเหตุผลและความคิดของแต่ละประเด็นที่พูดคุยกันมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เช่นเคย เนื่องจากจะกระทบกับการเจรจา และประเด็นทั้งหมดที่คุยกัน ยังไม่ได้ตอบใช่และไม่ใช่ แต่พักไว้ก่อน“

ทั้งนี้กรอบการเจรจา วันนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ จากเดิมที่แบ่งไว้ 4 กรอบ จะลดเหลือเพียง 3 กรอบ ได้แก่ 1. กรอบที่เจรจายาก 2. ประเด็นที่มีผลกระทบกับภาพลักษณ์ของการรถไฟฯมีทั้งนากและง่าย และ 3. ประเด็นที่เจรจาง่าย และในที่ประชุมครั้งนี้ ทางอัยการสูงสุดในฐานะกรรมการเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดำเนินการเจรจาในกรอบที่ 2 ซึ่งจะมีประเด็นด้านข้อกฎหมายรวมอยู่ด้วย รวมถึงเจรจากรอบที่ 3 ต่อด้วย พร้อมดูภาพรวมของสัญญาไปด้วย

โดยทางอัยการฯขออาสาทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้มีมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว และได้นัดหมายประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งแรกในวันที่ 7 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. ก่อนในเวลา 10.00 น. จะนัดหมายกลุ่มซี.พี.มาเจรจากันต่อ คาดว่าจะใช้เวลาเจรจากันจนถึง 16.00 น. หากการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติก็จะนัดหมายกันต่อในวันที่ 8 ก.พ.ต่อไป เบื้องต้น ยังวางกำหนดการเจรจาไว้ตามเดิมคือ ภายในเดือน ก.พ.นี้ต้องจบ เพื่อที่ในเดือนมี.ค.จะได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง

“การเจรจาจะจบก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ควรยุติการเจรจาร่วมกัน เพราะหากเจรจายืดเยื้อไปเรื่อยๆ รัฐเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มซี.พีเสนอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มก่อสร้าง แทนการจ่ายในช่วงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 ปีหรือไม่ นายวรวุฒิ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุยในประเด็นนี้อยู่ในกรอบที่1ที่ยากที่สุด ซึ่งเอกชนเสนอขอให้รัฐจ่ายเร็วขึ้นได้หรือไม่ ก็ทำความเข้าใจกันแล้วว่าทำไมแต่ละฝ่ายถึงมีข้อเสนอแบบนี้ แต่ยังไม่ได้ตอบไปว่า จะเอาด้วยหรือไม่ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกต้องพิจารณาตามกรอบที่ TOR ประเด็นนี้จึงถูกพักไว้ก่อน เพื่อหาข้อสรุปในภายหลัง ซึ่งมี 2 ทางคือ ไปปรับแก้มาใหม่หรือจะยืนยันตามที่เสนอไว้เดิม

รายงานข่าวเปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกมีการพิจารณากรอบข้อเสนอของกลุ่มซี.พี.ที่ยากสุดก่อน มีทั้งเป็นเงื่อนไขที่อยู่และไม่อยู่ในทีโอาร์ เช่น การจ่ายค่าเช่าที่ดินสถานีมักกะสันและศรีราชาที่จะพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์

ทางกลุ่มซี.พี.ขอเลื่อนการจ่ายค่าเช่าออกไปก่อนแต่บริษัทจะมีค่าดอกเบี้ยให้ จากเดิมในทีโออาร์กำหนดต้องจ่ายก้อนแรกเป็นค่าแรกเข้าในทันทีหลังเซ็นสัญญาจากนั้นแบ่งจ่ายเป็นรายปีตลอดอายุสัญญา50ปี แต่ยังไม่มีข้อสรุปเพราะผิดเงื่อนไขในทีโออาร์

ทั้งนี้สำหรับ 11 ข้อเสนอพิเศษในซองที่4ที่กลุ่ม ซี.พี.เสนอให้รัฐพิจารณา มี 3 ข้อที่คณะกรรมการคัดเลือกรับพิจารณา คือ การสร้างศูนย์ความเป็นเลิศ สร้างโรงงานประกอบรถไฟฟ้า และพัฒนาโครงการร่วมกับชุมชน

อีก 8 ข้อเสนอ มีไม่รับพิจารณา ได้แก่ การันตีผลตอบแทนโครงการ 6.75% ต่อปี ขอรัฐจ่ายค่าอุดหนุนปีแรก ขอรัฐสนับสนุนแหล่งเงินที่เหมาะสม ปรับบางช่วงสร้างเป็นทางระดับดิน ส่วนการขยายเส้นทางอู่ตะเภา-ระยอง สร้างเส้นทางย่อยเชื่อมสถานี ย้ายตำแหน่งสถานี ลดสัดส่วนการถือหุ้น จะเป็นข้อเสนอที่นำมาพิจารณาภายหลังได้โดยใส่ไว้ในแนบท้ายสัญญา เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกมองว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่ในขั้นเจรจา และเอกชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้ในฐานะผู้ร่วมลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ เช่น การย้ายตำแหน่งสถานีในทีโออาร์ก็เปิดทางให้เอกชนเสนอได้