เปิดแผน 8 ปี บูมอุตฯรถไฟไทย บังคับโปรเจ็กต์ใหม่ใช้ของในประเทศ เล็งเสนอ”บิ๊กตู่”เคาะก่อนหมดวาระ

คมนาคม-คลัง-อุตฯ รับบัญชา “สมคิด” ร่างแผนบูมอุตฯระบบรางไทย 8 ปีรับสารพัดโครงการราง เผยบังคับทีโออาร์โปรเจ็กต์ใหม่ต้องใช้ของในประเทศ ชี้ถ้าทำได้ลดต้นทุนได้กว่าหมื่นล้าน ปลัดคมนาคมคาดเสนอ ครม.บิ๊กตู่ทันก่อนหมดวาระ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลการประชุมแนวทางการพัฒนาผลอุตสาหกรรมระบบราง เป็นการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้เป็นรูปธรรม ไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562 ที่ผ่านมา และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำผลการศึกษาแนวทางพัฒนาดังกล่าว โดยกระทรวงคมนาคมสนับสนุนข้อมูลด้านตัวเลขประมาณการต่างๆไปให้

ผลการศึกษาดังกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรมจะครอบคลุมทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง เพราะคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปี ประเทศไทยจะมีความต้องการปริมาณตู้รถไฟรวม 1,000 ตู้ จากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณตู้รถไฟรวม 1,596 ตู้ แบ่งเป็นตู้รถไฟปกติ 1,183 ตู้ และตู้รถไฟฟ้าอีก 413 ตู้ และประเทศไทยกำลังลงทุนในโครงสร้างระบบรางเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในอนาคตระบบรางจะเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักภายในประเทศ ดังนั้น จะไปพึ่งพาต่างประเทศทั้งหมดแบบเดิมอีกไม่ได้

ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนด้านการบริหารจัดการเดินรถและการซ่อมบำรุงลดลง คาดว่าเมื่อแผนนี้สามารถบังคับใช้ได้จริง จะสามารถลดการนำเข้าตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 18,000 ล้านบาท/การจัดซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้้า 1,000 ตู้ และจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษารวมถึงค่าจ้างบุคลากรได้ 4,300 ล้านบาท โดยแบ่งระยะเวลาการพัฒนาได้ดังนี้

1.ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐทั้งหมด กำหนดให้ซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ หรือผู้ผลิตที่มีแผนจะเข้ามาผลิตในประเทศเท่านั้น โดยในขั้นนี้ผู้ผลิตจะต้องมีแผนลงทุนด้านการผลิตภายในประเทศไทยและต้องไปขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงงานเสร็จ

2.ภายในปี 2565 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐทั้งหมด กำหนดให้ส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายภายในประเทศ ความหมายก็คือ ผู้ผลิตที่มีแผนลงทุนและขอส่งเสริมการลงทุนแล้ว จะต้องก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประกอบตู้รถไฟสำเร็จรูปภายในประเทศ จากปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทเท่านั้น เช่น สายไฟ หม้อแปลง แอร์ ลูกถ้วย เป็นต้น แล้วส่งออกไปประกอบในต่างประเทศ

3.ภายในปี 2567 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของรัฐทั้งหมด กำหนดให้ส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด กำหนดให้ใช้วัสดุชิ้นส่วนภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่างานทั้งหมด

4.ภายในปี 2568 ส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด กำหนดให้ชิ้นส่วนหลัก เช่น ตัวรถ โครงสร้างต่างๆ ตู้โดยสาร ห้องควบคุมรถ ระบบช่วงล่าง โบกี้ ระบบห้ามล้อ ระบบเชื่อมต่อขบวนรถ ระบบขับเคลื่อน ระบบไฟฟ้า และการจ่ายไฟ ต้องผลิตในประเทศทั้งหมด

แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมา จะนำไปใส่ไว้ในทีโออาร์โครงการลงทุนใหม่ทั้งหมดด้วย แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับโครงการลงทุนในขณะนี้ เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่มีความคืบหน้าตามทีโออาร์ไปมากแล้ว หากมีผลย้อนหลังอาจจะมีผลกระทบได้

หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะประมวลและสรุปข้อมูลต่างๆ อีกครั้ง เพื่อนำเสนอคณะรฐมนตรี (ครม.) โดยจะเสนอให้ทันภายในคณะรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากเป็นข้อสั่งการมา