“ไฮสปีด ซี.พี.” สะดุดข้อเสนอพิเศษ วัดใจ “บิ๊กตู่-เจ้าสัว” ผ่าทางตันโปรเจ็กต์

ใกล้งวดจะได้ข้อสรุปว่าถึงที่สุดแล้ว “จะได้ไปต่อหรือชะลอ” สำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 224,544 ล้านบาท ที่คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กำลังเปิดโต๊ะเจรจา “กลุ่ม ซี.พี.” ผู้เสนอให้รัฐสนับสนุนเงินก่อสร้างน้อยที่สุด 117,227 ล้านบาท

เมื่อการเจรจา “สะดุด” หยุดอยู่ที่ข้อเสนอพิเศษของกลุ่ม ซี.พี. ที่ยื่นเป็นซองที่ 4 และข้อเสนออื่น ๆ อีกสารพัด ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาได้ ในเมื่อมีเงื่อนไขที่ไปด้วยกันไม่ได้ จึงทำให้การเจรจาหลายครั้ง

ที่ผ่านมา ยังหาข้อสรุปไม่ลงตัว ยังต้องลุ้นกันต่อ จะทันปิดดีลสิ้นเดือน มี.ค.นี้ อย่างที่คณะกรรมการอีอีซี มี “บิ๊กตู่-พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหรือไม่ ในเมื่อสิ่งที่กลุ่ม ซี.พี.ยื่นให้พิจารณาเป็นไปได้ยาก

เว้นแต่ “กลุ่ม ซี.พี.” จะกัดฟันยกเลิกการเจรจาข้อเสนอต่าง ๆ โฟกัสเฉพาะผลราคาชี้ขาดในซองที่ 3 จะทำให้โครงการได้เดินหน้าอย่างฉลุย ที่สำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ที่ประกาศครึกโครมจะทุ่มเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท ช่วยรัฐบาลสร้างไฮสปีดเทรนพ่วงเมืองใหม่แปดริ้ว 1 หมื่นไร่ ปลุกพื้นที่อีอีซีให้คึกคัก

สำหรับผลการเจรจาครั้งล่าสุด “วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการระบุว่า วันที่ 1 ก.พ.เป็นการเจรจาครั้งที่ 2 ในกรอบเจรจาที่ 1 เรื่องยากที่สุด ภาพรวมเป็นไปด้วยดี เชื่อว่าการเจรจายังสามารถไปต่อได้

“ตอนนี้แต่ละฝ่ายเริ่มมีความเข้าใจในเหตุผลและความคิดของแต่ละประเด็นที่พูดคุยกันมากขึ้น แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ จะกระทบกับการเจรจา และประเด็นทั้งหมดที่คุยกันยังไม่ได้มีการตอบรับ แต่พักไว้ก่อนเพราะเป็นเรื่องยาก”

ขณะเดียวกัน เพื่อให้การเจรจาเดินหน้าด้วยเร็ว ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่เหลือ 3 กรอบ คือ 1.เจรจายาก 2.มีผลกระทบภาพลักษณ์การรถไฟฯ และ 3.เจรจาง่าย ซึ่งอัยการสูงสุดเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุด เจรจากรอบที่ 2 เกี่ยวกับด้านข้อกฎหมาย อาจจะมีผลถึงกลุ่มที่ 1 เป็นกรอบเจรจายากด้วย จากนั้นจะเจรจากรอบที่ 3 ควบคู่กับดูภาพรวมของสัญญาไปด้วย เริ่มประชุมวันที่ 7 ก.พ. หากไม่ยุติก็ประชุมต่อวันที่ 8 ก.พ. คาดว่าจะทำให้การเจรจาได้เร็วขึ้น และได้ข้อสรุปสิ้นเดือน ก.พ. และเซ็นสัญญาในเดือน มี.ค.นี้

“ถามว่าการเจรจาจะจบได้เมื่อไหร่ ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นว่าควรยุติการเจรจาร่วมกัน เพราะหากเจรจายืดเยื้อไปเรื่อย ๆ รัฐเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร” นายวรวุฒิกล่าวย้ำ

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอที่กลุ่ม ซี.พี.เสนอมา ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนืออำนาจคณะกรรมการคัดเลือก และไม่อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์ เช่น 1.ขอขยายเวลาอายุสัมปทานจากที่กฎหมายอีอีซีกำหนด 50 ปี ออกไปอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี 2.ขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกจากสัญญากำหนดปีที่ 6-15 เพื่อให้รัฐรับประกันการจ่ายเงินให้ก่อนที่จะมีการรับรู้รายได้ เพื่อจะได้นำโครงการไปกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยถูกลงได้ เนื่องจากโครงการมีความเสี่ยงสูง และขอให้รัฐหาดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสมให้

3.ขอปรับแบบก่อสร้างจากยกระดับเป็นทางระดับดินให้เหมาะสมในบางพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง 4.ขอเลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ ออกไปก่อน แต่จะบวกค่าดอกเบี้ยให้ด้วย จากที่ทีโออาร์กำหนดต้องจ่ายค่าแรกเข้าทันทีหลังเซ็นสัญญา และแบ่งจ่ายปีที่ 1-50

5.ขอเลื่อนจ่ายค่าสิทธิการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไปก่อน จากเดิมต้องจ่ายทันทีหลังเซ็นสัญญา 6.ขยายเส้นทางจากสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง 7.ปรับตำแหน่งสถานีใหม่ 8.สร้างสเปอร์ไลน์เชื่อมการเข้า-ออก เป็นต้น

“ข้อเสนอต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจคณะกรรมการคัดเลือก มีโอกาสแนวโน้มการเจรจาจะไม่สำเร็จก็มี แต่อยู่ที่คณะกรรมการอีอีซีจะรับพิจารณาหรือไม่ ซึ่งทางกลุ่ม ซี.พี.ก็มีสิทธิ์นำไปเสนอได้ หรือหากกลุ่ม ซี.พี.อยากให้โครงการเดินหน้าต่อโดยเร็ว ก็ยกเลิกข้อเสนอต่าง ๆ แล้วค่อยไปเจรจากับคณะดำเนินงานโครงการภายหลังก็ได้ แต่ก็ต้องปรับข้อเสนอให้มีความเป็นไปได้ด้วย แม้โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน แต่รัฐก็จ่ายเงินสนับสนุนให้เอกชนไปกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมให้ที่ดินพัฒนาเชิงพาณิชย์และสิทธิ์เดินรถรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย”

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การที่กลุ่ม ซี.พี.จะดำเนินการเจรจาต่อรอง ก็ยังต้องขออำนาจจากพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนด้วย โดยเฉพาะจากจีน ที่กำลังร่วมกับไทยพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังไงก็ต้องได้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย เพื่อเป็นเส้นทางต่อเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่สร้างไปถึงคุนหมิง

“โครงการอินฟราสตรักเจอร์ต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ใช้เวลาร่วม 10 ปี ยิ่งรถไฟความเร็วสูงซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน กว่าจะคุ้มทุนใช้เวลา 50 ปี ไม่ว่าใครก็ตามที่จะเข้ามาก็ต้องการยืดเวลาสัมปทานทั้งนั้น เพราะต้องรอให้มีฟีดเดอร์ การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในแนวเส้นทางตามมาอาจจะต้องใช้เวลา จึงจะทำให้โครงการอยู่ได้”

ต้องวัดใจบิ๊กตู่ว่าจะโอเคหรือเซย์โน