เร่งถนนวงแหวนรอบที่ 3 ‘กทม.ตะวันออก’ ยาว 52 กม.เชื่อมรังสิตทะลุบางนา-ตราด

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

กรมทางหลวงปัดฝุ่นโปรเจ็กต์วงแหวนรอบที่ 3 ระยะทาง 254 กม. วงเงิน 1.57 แสนล้าน แก้ปัญหารจราจร หลังเมืองขยายตัว ปรับแนวใหม่สอดรับสภาพพื้นที่ แผนบริหารจัดการน้ำ ขีดรัศมีห่างจากวงแหวนรอบที่ 2 ประมาณ 10-15 กม. ประเดิมด้านตะวันออก 52 กม. จากรังสิตพาดยาวถึงบางนา-ตราด ตั้งเป้าตอกเข็มปี”63 เร่งเดินเครื่องมอเตอร์เวย์ 4 สายใหม่ เปิดใช้ปี”64 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 เพื่อเสริมสร้างระบบโครงข่ายถนนในเขตพื้นที่ปริมณฑลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และลดปริมาณการจราจรที่จะผ่านเข้า-ออกใจกลางเมืองกรุงเทพฯ 

ปัดฝุ่นวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 

โดยนำผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2552 มาทบทวนใหม่ ให้สอดรับกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะได้รูปแบบของโครงการภายในเดือน มี.ค. 2562 จากนั้นจัดทำรายละเอียดโครงการ เช่น รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การสำรวจพื้นที่เวนคืน และจัดของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง

คาดว่าจะเริ่มดำเนินการฝั่งตะวันออกก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากปริมาณการจราจรค่อนข้างหนาแน่น ตามแผนตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างอย่างเร็วในปี 2563 หรืออย่างช้าปี 2564 แล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2566-2567 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายด้วยเช่นกัน 

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการวงแหวนรอบที่ 3 ตามผลการศึกษาเดิมปี 2552 มีระยะทาง 254 กม. เงินลงทุน 157,700 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 56,300 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 101,400 ล้านบาท แนวเส้นทางจะอยู่ห่างจากถนนวงแหวนรอบที่ 2 (กาญจนาภิเษก) ประมาณ 10-15 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 22 อำเภอ ประกอบด้วย

พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.ลาดบัวหลวง บางไทร บางปะอิน วังน้อย และอุทัย

ปทุมธานี ตัดผ่าน อ.หนองเสือ ลาดหลุมแก้ว ธัญบุรี และลำลูกกา

กรุงเทพฯ ตัดผ่านเขตหนองจอก ลาดกระบัง และบางขุนเทียน

สมุทรปราการ ผ่าน อ.บางบ่อ พระสมุทรเจดีย์ อ.เมือง บางเสาธง และบางพลี

สมุทรสาคร ที่ อ.กระทุ่มแบน และ อ.เมือง

จ.นครปฐม มี อ.สามพราน และพุทธมณฑล

จ.นนทบุรี ที่ อ.ไทรน้อย

โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ด้านตะวันออก ระยะทาง 97 กม. 2.ด้านตะวันตก 98 กม. และ 3.ด้านใต้ ระยะทาง 59 กม. 

เปิดแนวเส้นทางโครงการ

ในผลการศึกษาใหม่ของด้านตะวันออก มีปรับแนวเส้นทางเลี่ยงการเวนคืนที่ดินและรับกับแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน โดยมีระยะทางรวม 52 กม. แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 305 (ถนนรังสิต-นครนายก ประมาณ กม.25+850) ที่ ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จากนั้นแนววิ่งมาทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และตัดทางหลวงหมายเลข 3312 (ถนนลำลูกกา ประมาณ กม.25+000) ที่ ต.บึงทองหลาง ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านทำเลทอง แล้วมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ข้ามคลองหกวาสายล่าง เข้าสู่พื้นที่แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ จากนั้นมุ่งลงไปทางทิศใต้ ผ่านแขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก ข้ามคลองลำเจดีย์ คลองบึงแตงโม ตัดถนนมิตรไมตรี ข้ามคลองแสนแสบ เข้าสู่เขตพื้นที่แขวงโคกแฝด และสิ้นสุดโครงการ ระยะทางรวมประมาณ 25 กม.

ส่วนที่ 2 แนวเส้นทางเริ่มต้นจากจุดตัดทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนสุวินทวงศ์) บริเวณ กม.ที่ 47+650 แขวงลำผักชี ทางด้านตะวันตกของบ้านซื่อตรง สุวินทวงศ์ ตัดผ่านถนนฉลองกรุง ทางด้านตะวันตกของชุมชนเคหะฉลองกรุง จากนั้นแนวมุ่งลงใต้ผ่านทางด้านตะวันออกของวัดลำพอง ผ่านแขวงทับยาว ตัดข้ามทางรถไฟ โดยห่างจากสถานีรถไฟหลวงแพ่ง มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กม. ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ตัดถนนหลวงแพ่ง บริเวณบ่อตกปลานวลจันทร์ ทางด้านตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง ยกข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 บริเวณ กม.ที่ 23+900 ที่ ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แล้ววิ่งขนานไปกับขอบพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิ และสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) กม.ที่ 23+850 ทางด้านตะวันตกของชุมชนอำเภอบางเสาธง ระยะทาง 27 กม.


ฝั่งตะวันตกแบ่ง 3 ช่วง

สำหรับด้านตะวันตกมีระยะทาง 98 กม. แบ่ง 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เริ่มต้นที่ถนนพระรามที่ 2 กม.ที่ 22+500 ห่างจากมหาชัยเมืองใหม่ 1.50 กม. มุ่งหน้าผ่านถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ผ่านถนนทางหลวงชนบทสมุทรสงคราม 4009 สิ้นสุดถนนพุทธสาคร ระยะทางประมาณ 10 กม.

ช่วงที่ 2 เริ่มต้นที่ กม.ที่ 10+000 ของแนวช่วงที่ 1 มีจุดเริ่มต้นอยู่ในเขตพื้นที่ ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร แล้วเบนออกไปด้านตะวันตก ห่างจากเทศบาลอ้อมน้อย 400 เมตร ตัดข้ามถนนเศรษฐกิจ 1 ช่วงอ้อมน้อย-สมุทรสาคร จากนั้นแนวจะสร้างเป็นทางยกระดับซ้อนทับกับถนนพุทธมณฑลสาย 5 ตลอดแนวไปจนถึงถนนศาลายา-นครชัยศรี ระยะทางประมาณ 10 กม. จากนั้นตัดข้ามทางรถไฟสายใต้ ไปด้านตะวันตก 2 กม. แล้วเบนไปตัดอ้อมด้านตะวันตกของสนามกอล์ฟรอยัลเจมส์ สิ้นสุดที่ถนนกรุงนนท์-จงถนอม รวมระยะทาง 16.50 กม. 

ช่วงที่ 3 แนวต่อจากช่วงที่ 2 บริเวณ กม.ที่ 26+500 ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีบางช่วงที่สิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นใหม่ในแนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ลุ่มต่ำ ด้านตะวันออกของตำบลคลองโยง ห่างจากวัดมะเกลือ 500 เมตร มุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ เข้าไปในพื้นที่เขต อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ห่างจากโรงพยาบาลไทรน้อย 600 เมตร ตัดข้ามถนนปทุมธานี-บางเลน (สาย 346) ทางด้านตะวันออกของสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จากนั้นมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าพื้นที่ ต.คลองพระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ตัดข้ามถนนสามโคก-เสนา ทางเหนือวัดสว่างอารมณ์ประมาณ 2 กม. ตัดผ่านลำน้ำ 2 แห่ง ที่แม่น้ำน้อย กม.ที่ 84+000 และ กม.ที่ 93+500 ของแม่น้ำเจ้าพระยา สิ้นสุดที่ กม.ที่ 13+790 ของถนนสายเอเชีย ในพื้นที่ ต.คุ้งลาน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 71.50 กม.

คืบหน้ามอเตอร์เวย์ 4 สายใหม่

นายอานนท์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการมอเตอร์เวย์ 4 สายทางในแผนงาน ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา, บางใหญ่-กาญจนบุรี, หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย และนครปฐม-ชะอำ รวมวงเงินลงทุน 326,803 ล้านบาท

ซึ่งมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. เงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ขณะมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 70% คาดว่าจะเปิดใช้ ปี 2564 ภายในเดือน ก.พ.นี้ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เงินลงทุน 33,258 ล้านบาท 

ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. เงินลงทุน 64,717 ล้านบาท ในส่วนของปัญหาการเวนคืนที่ดิน อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ ให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม

โดยจะเร่งให้จบภายใน 1-2 เดือนนี้ หลังจากที่มีข้อท้วงติงเรื่องงบฯเวนคืนเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มสูงตามไปด้วย ล่าสุดได้ปรับลดวงเงินค่าเวนคืนจากเดิม 14,317 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 8,000 ล้านบาท

โยกค่าก่อสร้างโปะบางใหญ่

“เพื่อบรรรเทาปัญหานี้จะนำงบฯที่ได้รับจัดสรรสำหรับก่อสร้างในโครงการนี้ที่เหลืออยู่ 5,000 ล้านบาท เป็นงบฯในปี 2561 มาเบิกจ่ายค่าเวนคืนไปก่อน และปี 2562 จะนำงบฯที่ได้รับจัดสรรค่าเวนคืนที่ดิน 5,000 ล้านบาท ไปใช้ก่อสร้างต่อไป ส่วนงาน O&M เงินลงทุน 27,828 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการ ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน อาจจะเปิดประมูลไม่พร้อมกับสายบางปะอิน-โคราช เพราะมีข้อกังวลการเวนคืนและส่งมอบพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจน”

หาดใหญ่-ปาดังฯ ติด EIA

ขณะที่มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย ระยะทาง 71.5 กม. เงินลงทุน 37,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างนำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้ความเห็นชอบ จะดำเนินการคู่ขนานไปกับการสรุปผลรายงานผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ของโครงการ

คาดว่าจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบได้ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ก่อนจะเสนอให้ ครม.อนุมัติต่อไป โดยการลงทุนของโครงการเป็นรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 33 ปี ก่อสร้าง 3 ปี และบำรุงรักษา 30 ปี 

มี.ค. ชงนครปฐม-ชะอำ

สำหรับมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. เงินลงทุน 79,000 ล้านบาท หลังคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือน ก.ย. 2561 ล่าสุดอยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา

โดยบอร์ด PPP ให้กรมกลับไปยืนยันตัวเลขวงเงินและมูลค่างานต่าง ๆ พร้อมให้สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณหาวิธีเบิกจ่ายเงินร่วมทุน เนื่องจากรัฐจะลงทุนเวนคืน 18,000 ล้านบาท และร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกิน 55,805 ล้านบาท คาดว่า สคร.จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อไป ภายในต้นเดือน มี.ค.นี้