จุดเปลี่ยน…รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ นับถอยหลังเปลี่ยนมือ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

สัมภาษณ์

 

ร่วม 8 ปีที่ “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์” สายพญาไท-สุวรรณภูมิ ที่รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ก่อสร้าง พร้อมจัดตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้บริหารโครงการ กว่าจะมีผู้โดยสารแตะ 23.7 ล้านเที่ยวคน หรือเฉลี่ย 86,110 เที่ยวคนต่อวัน ก็มีสารพัดปัญหาให้ต้องปรับแก้ตลอดเวลา 

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนมือ จาก “บริษัทลูกรถไฟ” ไปอยู่ใต้ปีก “เอกชนรายใหม่” หลังถูกนำไปหลอมรวมเป็นสัมปทานเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับ “กลุ่ม ซี.พี.” ผู้คว้าสิทธิ์การเดินรถและบริหารพื้นที่ 8 สถานี เป็นระยะเวลา 50 ปี หากไม่มีอะไรพลิก คาดว่าจะเซ็นสัญญาในเดือน มี.ค.นี้ 

นับจากนี้ถึงเดือน ธ.ค. 2563 จึงเป็นช่วงเวลาการเตรียมความพร้อมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อ “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ผู้รับสัมปทานรายใหม่ 

“สุเทพ พันธุ์เพ็ง” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า ภารกิจของบริษัทจะเปลี่ยนไปใน 2 ปีนี้ เพื่อรับการเปลี่ยนผ่านเป็นผู้บริหารโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) โดยบริษัทจะทำหน้าที่เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2563 ก่อนที่จะส่งต่อให้กับผู้รับสัมปทานรายใหม่ ในช่วงปี 2562-2563 ต้องเตรียมความพร้อมและประคับประคองการเดินรถให้ครบทั้ง 9 ขบวน เนื่องจากปัจจุบันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 10% คาดว่าปีนี้ผู้โดยสารรวมจะอยู่ที่ 25 ล้านเที่ยวคน 

“ปี 2562-2563 ยังไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ แต่เตรียมเงินลงทุนปีละ 300-400 ล้านบาท ซ่อมบำรุงและซื้ออะไหล่ที่ถึงรอบต้องเปลี่ยนเมื่อครบ 4 ปี เช่น ขอบยางประตูรถ เพื่อประคับประคองการเดินรถให้สมบูรณ์ไปจนถึงปลายปีหน้า ก่อนที่จะส่งต่อให้กับเอกชนรายใหม่”

หลังจาก ร.ฟ.ท.ได้ผู้รับสัมปทานแล้ว บริษัทจะจัดประชุมร่วมกับเอกชนรายใหม่ เพื่อทำแผนการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ ซึ่งต้องมาดูในรายละเอียดว่ามีรายการอะไรที่ต้องรอนาน หรือสามารถทำก่อนและหลังได้ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อเพิ่มผู้โดยสาร เช่น ปรับปรุงตู้ขนสัมภาระ ซื้อรถขบวนใหม่ 7 ขบวน เนื่องจากรถ 9 ขบวนในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90,000 เที่ยวคนต่อวัน หรืออีกประมาณ 1 ปีกว่า ๆ เท่านั้น 

“การซ่อมบำรุงใหญ่จะครบกำหนดที่ระยะวิ่ง 3.6 ล้านกิโลเมตร จะครบรอบอีก 4 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันรถทั้ง 9 ขบวนมีระยะวิ่งอยู่ที่ 2.4 ล้านกิโลเมตร นอกจากนี้จะมีการซ่อมใหญ่อีกครั้งในปีที่ 15 แต่รถมีอายุการใช้งานได้ถึง 30 ปี อยู่ที่เอกชนรายใหม่จะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป ซึ่งการซื้อรถใหม่สามารถนำรถที่ผลิตจากจีนและยุโรปมาวิ่งบริการได้”

นายสุเทพย้ำว่า ปี 2561 เป็นปีที่แอร์พอร์ตลิงก์ทำงานหนัก ในการนำรถ 9 ขบวนทยอยซ่อมบำรุงใหญ่ จนครบเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา รวมถึงเร่งเซตระบบให้รองรับกับระบบตั๋วร่วมแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าในเดือน พ.ค.นี้จะเริ่มให้บริการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ 

นอกจากนี้ ยังเร่งสร้างมาตรฐานในการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐานสากล ได้จัดทำระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015 ในส่วนงานซ่อมบำรุง และส่วนงานปฏิบัติการ เพื่อยกระดับไปสู่การเดินรถของรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่จะเป็นงานท้าทายในปีต่อ ๆ ไป เพราะมีระยะทางยาวขึ้น มีขบวนรถไฟฟ้า 25 ขบวน 130 ตู้ และ 13 สถานี มีมูลค่าทรัพย์สินร่วม 31,120 ล้านบาท 

“ลักษณะธุรกิจของบริษัทจะเปลี่ยนไป ปัจจุบันบริษัทรับจ้างการรถไฟฯเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ ปัจจุบันได้ค่าจ้าง 320 ล้านบาท มีรายได้ 720 ล้านบาท ขณะที่สายสีแดง เราจะทำเองทั้งหมด ทั้งจัดเก็บค่าโดยสาร เป็นผู้เดินรถ และบริหารพื้นที่สถานี 10 สถานี ยกเว้นสถานีบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ที่การรถไฟฯจะเป็นผู้ดำเนินการเอง”

นายสุเทพกล่าวว่า บริษัทยังเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ แต่โครงสร้างองค์กรจะเปลี่ยนไป ตามขนาดของงานที่ใหญ่ขึ้น จะมีเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 120 ล้านบาท เป็น 3,400 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนมาบริหารโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในเดือน มี.ค.นี้ 

นอกจากนี้ เตรียมสรรหาบุคลากรทั้งด้านงานซ่อมบำรุง งานปฏิบัติการสถานี และส่วนงานสนับสนุนให้มีความเหมาะสมเพียงพอต่อการดำเนินงานสายสีแดง คาดว่าจะรับคนเพิ่มอีก 800 คน จากปัจจุบัน 510 คน

โดยเฉพาะในส่วนงานซ่อมบำรุงจะต้องเรียนรู้ระบบของรถไฟฟ้าที่แตกต่างออกไปจากเดิม เนื่องจากผู้ผลิตเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเป็นเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ต่างจากแอร์พอร์ตลิงก์เป็นระบบของผู้ผลิตจากเยอรมนี 

ในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย.นี้ จะส่งพนักงานในส่วนงานซ่อมบำรุงไปฝึกอบรมเทคโนโลยีจากผู้ผลิต สำหรับนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้บุคลากรอื่น ๆ ต่อไป เพื่อรองรับการเปิดบริการของสายสีแดง ต้นปี 2564 คาดว่าในปีแรกจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 86,620 เที่ยวคนต่อวัน มีรายได้ 1,013 ล้านบาท จะมีกำไรสุทธิในปีที่ 17 เป็นต้น