“เอสซีจี ซิเมนต์” จดลิขสิทธิ์ “SCG 3D Cement Extrusion Printing” นวัตกรรมวัสดุผนัง-โครงสร้าง-งานตกแต่ง-ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์

นายสยามรัฐ สุทธานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีนำนวัตกรรมการผลิตชิ้นงาน 3D printing ที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุหลักเรียกว่า 3D Cement Extrusion Printing Mortar เป็นการขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์สูตรพิเศษ (Mortar Ink) ซึ่งในขณะนี้ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรนานาชาติ สูตรปูนซีเมนต์มอร์ตาร์ที่ประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์

โดยมีด้วยกัน 4 สูตร มีกำลังอัดตั้งแต่ 550 350 250 ksc และสูตร Lightweight น้ำหนักเบากว่าประเภทอื่น 30% ขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถออกแบบชิ้นงานเพื่อเป็นส่วนประกอบโครงสร้าง ผนัง วัสดุตกแต่งอาคารบ้านเรือน ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ ได้อย่างอิสระ ช่วยลดปัญหาขลาดแคลนแรงงาน ใช้เวลาผลิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อชิ้น โดยราคาแพงกว่าการก่อสร้างแบบก่ออิฐ ฉาบปูนทั่ว ๆ ไป 2-3 เท่า

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผู้รับเหมา บริษัทพัฒนาที่ดินที่มีความต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการก่อสร้างเพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องคุณภาพ ความรวดเร็ว ลดมลภาวะในการผลิต 2.วิศวกรและสถาปนิกที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานตกแต่งที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงชิ้นงาน Non-structural

แผนธุรกิจปี 2562 ตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาท เป้าเติบโต 5-10% ต่อปี สัดส่วนการขายมาจากตลาดในประเทศ 10% ตลาดต่างประเทศ 90% แผนอนาคต 3-5 ปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนลูกค้าในประเทศเป็น 70% ต่างประเทศ 30% โดยมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์มอร์ตาร์ 8,000-10,000 ตัน/เดือนสำหรับขายให้กับลูกค้าที่มี Printer อยู่แล้ว

“ตลาดต่างประเทศ เริ่ม Roadshow และทำ Business Matching กับผู้ให้บริการ 3D Printing เช่น สิงคโปร์ อินเดีย รวมทั้งทำการตลาดผ่านเครือข่าย SCG International อาทิ สเปน สิงคโปร์ ดูไบ”

นายสยามรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีเครื่องพิมพ์ 3D จำนวน 2 เครื่อง โดยเครื่องใหญ่ใช้สำหรับการผลิตชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิต 10 ตร.ม. ต่อวัน กับเครื่องเล็กใช้สำหรับผลิตชิ้นงานขนาด 1 x 1 x 1 เมตร ปัจจุบันมีลูกค้าโครงการ 10 โครงการด้วยกัน

จุดเด่น 3D Cement Extrusion Printing Solution คือการขึ้นรูปชิ้นงานที่ซับซ้อน มีความโค้งเอียง แต่ยังสามารถรับกำลังอัดสูงได้ ทนแรงดึงได้มากกว่าคอนกรีตทั่วไป ทำให้สามารถประยุกต์ได้หลากหลายมากกว่าเทคโนโลยีคอนกรีตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงยังประยุกต์ใช้ในทางสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อน