“คมนาคม” นั่งไม่ติด ปั๊มเมกะโปรเจ็กต์ ทิ้งทวน 5 ปี รัฐบาล คสช. 1.3 ล้านล้าน

หมุดหมายการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ใกล้เข้ามาทุกขณะ ไม่เกินกลางปีนี้น่าจะเห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ ยังไม่รู้จะเป็นผู้นำหน้าเดิมหรือหน้าใหม่

โค้งสุดท้ายรัฐบาล คสช. 

ทำให้ห้วงเวลาไม่ถึง 2 เดือนนี้ “รัฐบาล คสช.” ภายใต้บังเหียน “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องใช้ทุกช่วงเวลาเร่งสปีดเค้นทุกผลงานให้ได้มากที่สุดหวังหวนคืนสู่การรั้งเก้าอี้ “นายกฯสมัยที่ 2”

ท่ามกลางความอืมครึมทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เจอมรสุมทั้งปัจจัยภายในและภายนอกรุมเร้า “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แม่ทัพใหญ่ด้านเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. จึงเดินสายไล่ขันนอตกระทรวงเศรษฐกิจ เร่งสารพัดโครงการและมาตรการต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่น

ทั้ง “อุตสาหกรรม-พาณิชย์-คลัง” ล่าสุดเป็นคิว “คมนาคม” ซึ่งกุมเม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ลงทุนนับล้านล้านแม้ที่ผ่านมาคมนาคมจะคลอด action plan หรือแผนปฏิบัติการเร่งด่วนประจำปี ขีดไทม์ไลน์ลงทุนรายโครงการแต่ยังติด ๆ ขัด ๆ ยกขบวนประมูลทุกปี

เร่งลงทุนสร้างความเชื่อมั่น 

“โครงการส่วนใหญ่ของรัฐบาล ขับเคลื่อนโดยกระทรวงคมนาคม หลังไปเร่งรัดการเบิกจ่ายกับกระทรวงการคลังมา ผมเห็นว่าในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีนี้การลงทุนของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่านักลงทุนต่างประเทศยัง wait and see เพราะต้องการเห็นความชัดเจนด้านการเลือกตั้ง แต่ไทยจะต้องเร่งลงทุนให้เกิดบาลานซ์กับการส่งออกซึ่งยังไม่ดีนัก หวังว่าครึ่งปีแรกไทยจะสามารถประคองตัวเองให้ผ่านพ้นไปสู่ครี่งปีหลังที่เรามีรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะทำให้ทุกอย่างกระเตื้องขึ้นมาได้” นายสมคิดกล่าวหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคม

26 โครงการ 1.3 ล้านล้าน

ขณะที่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการลงทุนที่นายสมคิดเร่งรัดในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 26 โครงการ รวมเม็ดเงินลงทุน 1.36 ล้านล้านบาท คาดว่าแต่ละโครงการจะทยอยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก.พ.-มี.ค.นี้ เร่ง บมจ.การบินไทยจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ มูลค่า 200,000 ล้านบาทเสนอให้ ครม.อนุมัติสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 4,294 ล้านบาท เร่งบินไทยเจรจากับแอร์บัสกรุ๊ปให้ได้ความคืบหน้าเร็วที่สุดเพื่อเสนอ ครม.

เค้น 4 โปรเจ็กต์ ทอท.

ให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เร่งรัด 4 โครงการสำคัญ ได้แก่ เร่งเบิกจ่ายงานก่อสร้าง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 เงินลงทุน 16,176 ล้านบาทพัฒนาสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 วงเงิน 60,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงพิจารณาควบคู่ไปกับเร่งทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แล้วเสร็จก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป

เดินหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 19,422 ล้านบาท ส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก 8,000 ล้านบาทตามแผนแม่บทเดิมปี 2553

ปิดดีลแหลมฉบัง-ไฮสปีด EEC 

ส่วนทางน้ำมี 2 โครงการ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดให้ซื้อซองใหม่ มีเอกชนซื้อ 34 ราย จะให้สรุปผลการคัดเลือก มี.ค.นี้ และปรับปรุงท่าเรือระนอง 1,000 ล้านบาท กำลังจัดซื้อจัดจ้าง

ขณะที่โปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง ในส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่คณะกรรมการอีอีซีได้วางเอาไว้

ไทย-จีนคลอด TOR 5 สัญญา

ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ในเร็ว ๆ นี้จะเซ็นสัญญาที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. กับบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 3,115 ล้านบาท อีก 12 สัญญาค่าก่อสร้างกว่า 100,000 ล้านบาท ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกประกาศร่างทีโออาร์ 5 สัญญา รวมระยะทาง 144 กม. เงินลงทุนรวม 58,425 ล้านบาท แล้วอีก 7 ตอนที่เหลือจะทยอยออกให้ครบภายในเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 77,906 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงการจัดทำรายงาน PPP เสนอคณะกรรมการการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) พิจารณา และศึกษาขยายเส้นทางไปถึงสุราษฎร์ธานีเพื่อให้โครงการเกิดความคุ้มค่า

ทางคู่ 8 เส้น มี.ค.มาแน่

ด้านรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 8 เส้นทาง 1,851 กม. วงเงิน 340,129 ล้านบาท “อาคม” แจกแจงว่า คืบหน้ามากที่สุด คือ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. 67,965 ล้านบาท จะเสนอ ก.พ.นี้

อีก 7 เส้นทาง จะเสนอ ครม.ได้ ก.พ.-มี.ค. ได้แก่ ขอนแก่น-หนองคาย 26,654 ล้านบาท, จิระ-อุบลราชธานี 37,523 ล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย 62,848 ล้านบาท, เด่นชัย-เชียงใหม่ 56,826 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 24,287 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-สงขลา 57,369 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 6,657 ล้านบาท

รถไฟฟ้าจ่อเข้า ครม.

ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. เงินลงทุน 120,459 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนจะจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556

สายสีแดง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. เงินลงทุน 6,570 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. เงินลงทุน 10,202 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. เงินลงทุน 7,469 ล้านบาท ในส่วน 2 สายแรก อยู่ระหว่างบรรจุวาระเข้า ครม.

เร่งงาน ทล.-กทพ.

“ยังมี 2 โครงการลงทุนที่รองนายกฯสมคิดให้ความสำคัญ คือ การเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี จะขอ ครม.ขยายกรอบค่าเวนคืน 8,000 ล้านบาท กำชับให้กรมทางหลวงเร่งทำข้อมูลเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณเห็นชอบก่อนจะเสนอ ครม.อนุมัติโดยเร็วที่สุด”

นอกจากนี้ กำชับให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประมูลทางด่วนช่วงพระราม 3-ดาวคะนอง 31,244 ล้านบาท ให้เสร็จเดือน ก.พ.นี้ หลังได้เงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) แล้ว จะช้าไม่ได้เด็ดขาด

โปรเจ็กต์ปิดท้ายจัดหารถเมล์จำนวน 3,000 คันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท ตอนนี้กำลังรับมอบรถเมล์ NGV ใหม่จำนวน 489 คัน วงเงิน 4,261 ล้านบาท โดยจะรับมอบครบทั้งหมดในช่วงเดือน ก.พ.-กลางเดือน มี.ค.นี้

ส่วนที่เหลือ 2,511 คัน วงเงิน 7,731 ล้านบาท จะเสนอ ครม.ภายในเดือน มี.ค.นี้

ทุกโครงการมีไทม์ไลน์ชัดเจน หากสับเกียร์เดินหน้าเต็มสูบ ผูกโครงการไว้ก่อนหมดวาระ เชื่อว่าน่าจะได้รับการเดินหน้ามากกว่าที่จะถูกรื้อยกแผง