5 มีนาฯเดดไลน์เจรจาไฮสปีด “ซีพี” ระทึก-“บีทีเอส” รอลุ้นเฮือกสุดท้าย

คณะกรรมการคัดเลือกยืนมติบอร์ดเล็ก เคาะ 28 ข้อเสนอกลุ่ม ซี.พี. ปิดตายเงื่อนไขพิเศษ ขยายสัมปทาน 99 ปี รับเงินอุดหนุนก่อน จ่ายค่าเช่าภายหลัง เดดไลน์ให้คำตอบวันที่ 5 มี.ค.นี้ คาด ซี.พี.ไม่ถอนตัวง่าย ๆ 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้เสนอวงเงินให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ได้พิจารณารายละเอียดข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี. ตามที่คณะอนุกรรมการมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานเสนอ จำนวน 28 ข้อ

โดยคณะกรรมการคัดเลือกยืนยันข้อเสนอที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์ มติคณะรัฐมนตรีและอำนาจคณะกรรมการ จะไม่นำมาพิจารณา เช่น ขยายสัมปทาน 99 ปี จ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก เป็นต้น จะดูเฉพาะส่วนข้อเสนอที่พอจะรับได้ เช่น เหตุสุดวิสัย เกิดเหตุจลาจลสงครามในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้หยุดชะงักการก่อสร้างลง เป็นต้น

“อยู่ที่กลุ่ม ซี.พี.จะตัดสินใจยังไง กับเงื่อนไขที่คณะกรรมการไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้ จะถอนเงื่อนไขหรือจะยุติจากการเจรจา ซึ่งจะส่งหนังสือเชิญกลุ่ม ซี.พี.มาเจรจาให้ได้คำตอบภายใน 5 มี.ค. หากวันนั้นกลุ่ม ซี.พี.ไม่มาจะโทรศัพท์ไปยืนยันว่าจะยุติการเจรจา เพื่อจะเชิญกลุ่มบีทีเอสมาเจรจาต่อไป เพื่อให้เซ็นสัญญาภายในเดือน มี.ค.นี้ จะเริ่มก่อสร้างได้ใน 6 เดือนนี้”

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ซี.พี.ตั้งใจสูงขนาดนี้ มีแนวโน้มสูงที่ไม่น่าจะถอนตัวจากโครงการนี้ เพียงแต่ต้องการคำยืนยันจากพันธมิตรที่ร่วมลงทุนมากกว่า

รายงานข่าวแจ้งว่า ใน 28 ข้อ มีทั้งที่รับได้และรับไม่ได้ บางประเด็นพิจารณาแล้วที่พอจะเป็นไปได้ เช่น ให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น หากโครงการมีปัญหาสร้างไม่เสร็จ, ยังไม่ขอเริ่มงานก่อสร้างหากโครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติอีไอเอ และการรถไฟฯส่งมอบพื้นที่ให้ไม่ได้

เพิ่มกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยซึ่งรัฐจะเข้ายึดพื้นที่หากเกิดเหตุร้ายแรง มีภัยอันตรายต่อชีวิตและความมั่นคงของประเทศ รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้, ขอเช่าช่วงที่ดินมักกะสัน-ศรีราชาให้ บมจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทลูกพัฒนา, ขอรัฐยกเว้นเพดานเงินกู้ให้กับรายใหญ่, การจ่ายค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้า จากปรับรายวันเป็นแบบคงที่, ขอลดสัดส่วนการถือหุ้น

ข้อเสนอ 12 ข้อ ที่ไม่สามารถรับพิจารณาได้ เช่น ขยายเวลาก่อสร้างอีก 180 วัน จากเดิมกำหนดต้องเสร็จ 5 ปี, ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรกขยายอายุสัมปทานหลังครบ 50 ปี อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี, ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก, เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่าจะมีผลตอบแทนหรือได้รับส่งมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ปีที่ 6 เป็นต้นไป, ห้ามรัฐอนุมัติโครงการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการเพราะทำให้เกิดการแข่งขัน, ปรับรูปแบบเป็นทางระดับดิน, การสร้างส่วนต่อขยายไประยอง, ย้ายจุดที่ตั้งสถานี, สร้างสเปอร์ไลน์เชื่อมการเดินทาง

รายงานข่าวแจ้งว่า ทั้งนี้ หากกลุ่ม ซี.พี.ถอนเงื่อนไขไม่ถือว่าทำผิดกติกาการประมูล เนื่องจากการตัดสินจบไปแล้วตั้งแต่ซองที่ 3 ซองที่ 4 เป็นข้อเสนอพิเศษแหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผยว่า การจะยกเลิกเงื่อนไขต่าง ๆ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ซี.พี.ที่เป็นแกนหลัก แม้ว่าจะมีการเจรจาหลายครั้งแล้ว จนถึงขณะนี้ทางกลุ่มก็ยังไม่ถอนตัวจากโครงการแต่อย่างใด แต่ด้วยมีพันธมิตรหลายรายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้การตัดสินใจและให้คำตอบต่าง ๆ กับภาครัฐล่าช้าบ้าง