ช.การช่างอัพเกรดสื่อสารรถไฟฟ้าใต้ดินทุ่มรีโนเวตค้าปลีกแนวใหม่

โฉมใหม่ - สถานีจตุจักรรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังปิดรีโนเวตพื้นที่เชิงพาณิชย์ "เมโทรมอลล์" ล่าสุดเปิดบริการแล้ว มาพร้อมโฉมใหม่ที่ไฉไล และร้านค้าแบรนด์ดังมากมาย
BEM ทุ่มอัพเกรดระบบสื่อสารรถไฟฟ้าใต้ดิน รองรับเปิดส่วนต่อขยายฝั่งธนฯ ลุยรีโนเวตค้าปลีก “เมโทร มอลล์” เปิดบริการแล้วสถานีจตุจักร คิวต่อไปพหลโยธิน ปักหมุดเพิ่มสถานีลาดพร้าว รัชดาภิเษก ศูนย์สิริกิติ์ วัดมังกรฯ วังบูรพา สามยอด อิสรภาพ

 

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) บริษัทในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ธุรกิจในเครือ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการพื้นที่เชิงพาณิชย์ “เมโทรมอลล์” (Metro Mall) ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสวนจตุจักร พื้นที่ 2,000 ตร.ม. หลังใช้งบฯลงทุน 30 ล้านบาท ในการรีโนเวตใหม่เพื่อให้ดูทันสมัยและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยได้ขยายกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมเป็นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ มาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เน้นทุกกลุ่ม (mass) มากขึ้น แต่ยังเน้นผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งได้เพิ่มเติมร้านค้าใหม่เข้ามา เช่น กูร์เมต์ ทูโก ของกลุ่มเดอะมอลล์ที่มีจุดเด่นด้านอาหารปรุงสำเร็จแบบพรีเมี่ยม, ร้านขายของเบ็ดเตล็ดสไตล์จีน-ญี่ปุ่นมินิโซล, ห้างแว่นท็อปเจริญ, ข้าวมันไก่ประตูน้ำ กวงเฮง, ดังกิ้น โดนัท เป็นต้น

ปัจจุบันสถานีจตุจักรมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 40,000 คน/วัน จากผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT เฉลี่ยอยู่ที่ 350,000 คน/วัน เป้าหมายต่อไปจะรีโนเวตเมโทรมอลล์สถานีพหลโยธิน พื้นที่ 1,000 ตร.ม. ใช้งบฯลงทุน 30 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มขั้นตอนไปแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาความเป็นไปได้ขยายสาขาเพิ่มเติมใน 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีลาดพร้าว กำลังศึกษาจำนวนผู้โดยสารที่อาจจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว -สำโรง เปิดบริการในปี 2564 2.สถานีรัชดาภิเษก จุดเด่นคือมีออฟฟิศอยู่รอบ ๆ เป็นจำนวนมาก กำลังศึกษาความเป็นไปได้ และ 3.สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้เช่นกัน หากพัฒนาทั้ง 3 สาขาได้ จะถือว่าทำได้ตามเป้าที่คาดไว้คือ 11 สาขา

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ BMN ให้ความสนใจที่จะพัฒนาเมโทรมอลล์เพิ่มเติมภายในสถานีของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ BEM ได้รับสัมปทานเดินรถ โดยเฉพาะช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กม. จะเปิดให้บริการในเดือน ก.ย.นี้ มีพื้นที่ที่คาดว่าจะเริ่มต้นพัฒนาได้ก่อนอยู่ในสถานีใต้ดิน 4 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกรกมลาวาส สถานีวังบูรพา สถานีสามยอด และสถานีอิสรภาพ โดยเฉพาะสถานีอิสรภาพ ที่มีพื้นที่สำหรับพัฒนาแยกออกมาเป็น 1 ชั้น พื้นที่ประมาณ 2,000 ตร.ม. รูปแบบเดียวกับสถานีสวนจตุจักร แต่ทั้งนี้ จะต้องรอดูปริมาณผู้โดยสารหลังเปิดให้บริการแล้วและต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยว่าส่วนใหญ่มีความต้องการอะไร ขณะที่สถานีแบบลอยฟ้า อาจจะพัฒนาแบบร้านค้าขนาดเล็ก รูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้า BTS

ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน ต้องรอนโยบายจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร เช่น รฟม.จะดำเนินการเองหรือเปิดให้เอกชนลงทุนพัฒนา

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานในปี 2562 BMN ตั้งงบฯลงทุนไว้ที่ 120 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ร้านค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 80 ล้านบาท และยังได้วางงบประมาณไว้สำหรับการพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมประมาณ 40 ล้าน

นอกจากนี้ BEM บริษัทแม่ได้วางงบฯลงทุนด้านโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT เพิ่มเติมอีก 370 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯอัพเกรดใน 4 สถานีใต้ดินของส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ประมาณ 167 ล้านบาท และอัพเกรดสถานีรถไฟฟ้า MRT เดิมทั้งหมด 18 สถานี ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ไม่รวมกับงบฯลงทุนของ BMN

สำหรับรายได้ของ BMN ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีรายได้ทั้งสิ้น 634 ล้านบาท กำไรสุทธิ 53 ล้านบาท เติบโตจากปี 2560 อยู่ที่ 3% เป็นผลมาจากการเปิดให้บริการเมโทรมอลล์สถานีสวนจตุจักรและสื่อโฆษณาภายในสถานีที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ปี 2562 ตั้งเป้ารายได้รวม 760 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 20% และตั้งเป้ากำไรสุทธิอยู่ที่ 85 ล้านบาท อานิสงส์จากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ในเดือน ก.ย.นี้ โดยรายได้รวมสามารถแบ่งสัดส่วนรายได้เชิงพาณิชย์ประกอบด้วยสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ 56% รายได้การให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม 28% และรายได้จากพื้นที่เช่าและบริการรวมกิจกรรมอีเวนต์ 17%