คมนาคมตีปี๊บ 21 โปรเจ็กต์ 1.29 ล้านล้าน โหมประมูลส่งท้ายรัฐบาล คสช.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) นำมาสู่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมไทยระยะ 20 ปี ล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และกระทรวงได้ทำแผนในเชิงปฏิบัติที่เรียกว่าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2558-2665) หรือแผน 8 ปี เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายของรัฐบาล โดยในแต่ละปีก็จะมีแผนดำเนินการโครงการต่างๆ หรือ Action Plan ออกมาให้ทราบกัน

โดยแผนงาน 8 ปี จะเน้นด้านการลงทุนในโครงการต่างๆ เป็นหลัก โดยดำเนินการภายใต้ 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การสร้างโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่ง, การเชื่อมต่อการเดินทางบก-น้ำ-อากาศ-รางแบบไร้รอยต่อ, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ที่สำคัญทุกคนต้องสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ ทั้งผู้สูงอายุ เด็กและคนพิการต้องใช้ได้ เป็น Transport for all

@ดัน 21 โครงการ 1.29 ล้านล้าน

ในเดือน มี.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดเดินหน้าโครงการสำคัญจำนวน 21 โครงการ รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.29 ล้านล้านบาท โดยมีทั้งโครงการต่อเนื่องที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ครบทุกโหมดทั้งบก ราง น้ำ และอากาศ

@แดงศิริราช-ทางคู่บ้านไผ่ จ่อ ครม. มี.ค.

สำหรับโครงการที่มีความพร้อมจะเสนอ ครม.ในช่วงนี้ มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. เงินลงทุน 67,965.33 ล้านบาท และ 2.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. เงินลงทุน 7,469 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณารายละเอียดทุกอย่างครบถ้วนแล้ว อยู่ระหว่างบรรจุในวาระพิจารณา

@อาคมยอมรับไม่ทันทั้งหมด

ส่วนสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม.เงินลงทุน 120,459 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ได้เห็นชอบโครงการแล้ว รอเสนอให้ ครม.พิจารณาเช่นกัน ทั้งนี้ นายอาคมยอมรับว่า ทั้ง 21 โครงการ ไม่สามารถผลักดันได้ทันเดือo มี.ค.นี้ทั้งหมด

สำหรับทั้ง 21 โครงการ วงเงินลงทุน 1.29 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟทางคู่ 8 โครงการ ประกอบด้วย ช่วงชุมทางจิระ – อุบลราชธานี เงินลงทุน 37,523.61 ล้านบาท, ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เงินลงทุน 26,654 ล้านบาท, ช่วงบ้านไผ่ – นครพนม เงินลงทุน 67,965.33 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย เงินลงทุน 62,848.74 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ เงินลงทุน 56,826.78 ล้านบาท, ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี เงินลงทุน 24,287.36 ล้านบาท, ช่วงสุราฎร์ธานี – สงขลา เงินลงทุน 57,368.43 ล้านบาท และช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ 6,657.37 ล้านบาท

รถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – หัวหิน เงินลทุน 77,906 ล้านบาท

รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ เงินลงทุน 120,459 ล้านบาท, สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ เงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา เงินลงทุน 10,202 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา เงินลงทุน 7,469 ล้านบาท

ทางถนน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษ พระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก เงินลงทุน 31,244 ล้านบาท

ทางน้ำ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เงินลงทุน 84,000 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงท่าเรือคลองเตย เงินลงทุน 23,000 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง เงินลทุน 5,000 ล้านบาท

และทางอากาศ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำของ บมจ.การบินไทย เงินลงทุน 200,000 ล้านบาท ล้านบาท, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) เงินลงทุน 4,294 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างอาคาร Satellite ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เงินลงทุน 16,000 ล้านบาท และโครงการขยายสนามบินเชียงใหม่ เงินลงทุน 14,473.31 ล้านบาท