เงื่อนไขยุบยับทำงบ”ไฮสปีดสายอีสาน”บาน4.5หมื่นล้านไทยกู้จีน85%ซื้อระบบ-6มี.ค.เซ็นสัญญา”ซีวิล”ตอกเข็ม11กม.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ- นครราชสีมา เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท มีความคืบหน้าของแผนงานด้านต่างๆ

@เลื่อนเซ็น 2.3 เม.ย.

สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการลงนามในสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และการจัดหาขบวนรถและจัดฝึกอบรมบุคลากร

เนื่องจากการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ โดยมีประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เช่น กรณีจีนเสนอรับประกันรถไฟความเร็วสูงหรือการันตีให้ 1 ปี ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยินยอม โดยต้องการให้รับประกัน 2 ปี, ประเด็นจีนขอเคลมค่าปรับกรณีงานก่อสร้างงานโยธาล่าช้า เป็นต้น

สำหรับกรอบวงเงินของสัญญา 2.3 จีนได้โยกเนื้องานบางส่วนมาใส่เพิ่มลงไปในสัญญา ทำให้กรอบวงเงินเพิ่มจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 38,588 ล้านบาทอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท แต่ไม่ทำให้กรอบโครงการในภาพรวมรวมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งการเจรจาในกรอบสัญญา 2.3 ยังไม่มีข้อยุติจะพยายามเจรจาให้ได้ข้อยุติ และเร่งเสนอ ครม.เพื่อให้ลงนามในสัญญา 2.3 ภายในเดือนเม.ย.นี้

@รับดอกเบี้ยกู้ 3%

ส่วนประเด็นเงินกู้ในสัญญา 2.3 นั้น ไทยรับเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยที่จีนเสนอไม่เกิน 3% ระยะปลอดดอกเบี้ย 5 ปี ระยะเวลากู้ทั้งหมด 25 ปี ได้ โดยกระทรวงการคลังจะกู้จากจีนประมาณ 85% ของกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท

@ทำสะพานชื่อมลาว

นายอาคมกล่าวต่อว่า ขณะที่การเชื่อมต่อกับประเทศลาว ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์นั้น จากการประชุม 3 ฝ่าย ฝ่ายจีนรับเป็นผู้ออกแบบโดยได้ตกลงรูปแบบร่วมกันแล้วว่าสะพานทางรถไฟแห่งใหม่ที่จะร่วมกันจะมีรางของรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตรเป็นแบบทางเดี่ยว เนื่องจากมีความถี่ในการเดินรถไม่มากนัก และมีรางขนาด 1.435 เมตร สำหรับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะวางรางบนสะพาน 4 ราง หรือเป็นแบบทางคู่

สำหรับทางรถไฟจากหนองคาย-เวียงจันทน์ มีระยะทางประมาณ 14 กม. ตัวสะพานมีความยาวประมาณ 400-500 เมตร โดยไทยและลาวจะออกค่าใช้จ่ายบนสะพานคนละครึ่ง ส่วนทางรถไฟฝั่งไทยที่เชื่อมจากสถานีหนองคาย-กลางสะพานมีระยะทางประมาณ 10 กม. โดยสถานีหนองคายจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร และมีสถานีนาทาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า

ด้านโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เงินลงทุนประมาณ 215,708.76 ล้านบาท จะเสนอของบประมาณเพื่อทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียดจำนวน 797 ล้านบาท โดยไทยดำเนินการศึกษาออกแบบเอง มีจีนเป็นที่ปรึกษา มีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ในปี 2569

@ลงนามซีวิล 6 มี.ค.นี้

นายอาคม กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เงินลงทุน 425 ล้านบาทที่มีกรมทางหลวง เป็นเจ้าของโครงการ ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้าง 50% ที่ล่าช้าเนื่องจากอยู่ระหว่างติดตั้งระบบไฟฟ้าและทดสอบความแข็งแรงของคันดินที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้านวิศวกรรมของประเทศจีน

ขณะที่สัญญา 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. เงินลงทุน 3,350.47 ล้านบาท หลังจากที่บริษัท ซีวิล เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกแล้วนั้น ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ จะมีการลงนามสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการ