สำรวจรายได้ 10 บิ๊กรับเหมา “ITD-ช.การช่าง-เพาเวอร์ไลน์ฯ” แผ่ว “ซิโน-ไทยฯ-เนาวรัตน์ฯ” พลิกกำไร

ปี 2561 ที่ผ่านมายังเป็นปีที่ “รัฐบาล คสช.” เร่งรัดการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต่างได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจรายได้ 10 บริษัทรับเหมาก่อสร้างในตลาดหลักทรัพย์ฯตลอดปี 2561 ที่ผ่านมาเริ่มจากพี่ใหญ่ของวงการ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” แม้ว่าตลอดปีที่ผ่านมาบอสใหญ่ “เปรมชัย กรรณสูต” ยังไม่พ้นบ่วงดราม่า “เสือดำ” แต่ยังมีงานเก่าและงานใหม่เติมเข้ามาในมือ ยังครองแชมป์รายได้สูงสุด โดยมีรายได้รวม 61,864.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,754.46 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้ 56,139.63 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 305.62 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิที่ 412.65 ล้านบาท 

รายได้เพิ่มขึ้นมาจากรายได้บริษัทย่อยอยู่ต่างประเทศ และโครงการขนาดใหญ่ที่บริษัทได้รับงานมามีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างมากขึ้น เช่น รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า เงินลงทุน 80,118 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนการลดลงของกำไรมาจากบริษัทย่อยในต่างประเทศมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง

อันดับ 2 ยังเป็นของ บมจ.ช.การช่าง ของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” มีรายได้รวม 31,175.57 ล้านบาท ลดลง 7,378.04 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ 38,553.61 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,494.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 684.3 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 1,810.01 ล้านบาท รายได้ลดลงสาเหตุหลักมาจากโครงการเขื่อนไชยะบุรีเข้าสู่ช่วงปลายของโครงการ ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง

ซิโน-ไทยฯพลิกกำไร 

อันดับ 3 ยังเป็นของ “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ธุรกิจใต้ปีก ตระกูลชาญวีรกูล มีรายได้รวม 28,000.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,810.33 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวม 21,190.58 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิฟื้นจากติดลบขาดทุน 610.83 ล้านบาท มาเป็นบวกที่ 1,616.86 ล้านบาท สำหรับรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่อันดับ 4 ยังคงเป็นของ “บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” มีรายได้รวม 12,982.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 308.2 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 12,675.12 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 796.64 ล้านบาท ลดลง 120.45 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีกำไรอยู่ที่ 890.09 ล้านบาท

อสังหาฯดันเนาวรัตน์ฯมีกำไร

อันดับ 5 เป็นของ “บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ” มีรายได้รวม 10,444.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,099.13 ล้านบาท จากปี 2560 มีรายได้รวม 9,345.32 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิพลิกจากขาดทุน 202.81 ล้านบาทในปี 2560 เป็นกำไรในปี 2561 ที่ 418.04 ล้านบาท รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในบริษัทย่อย คือ บริษัท มานะพัฒนาการ จำกัด สามารถโอนคอนโดมิเนียมในโครงการเอสเพน คอนโด เฟส บี ซ.ลาซาล จำนวน 398 ยูนิตให้แก่ลูกค้า ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และอื่น ๆ โดยเฉพาะคอนกรีต ธุรกิจอาหารและน้ำมัน ทำรายได้มากกว่าปี 2560 ถึง 85.05 ล้านบาท

เพาเวอร์ไลน์ฯรายได้-กำไรหด

อันดับ 6 เป็นของ บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง มีรายได้รวม 7,977.61 ล้านบาท ลดลง 450.3 ล้านบาท จากปี 2560 มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,427.02 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทปี 2561 อยู่ที่ 223.73 ล้านบาท ลดลง 889.68 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีกำไรถึง 1,113.41 ล้านบาท เป็นผลมาจากในปี 2560 รายได้จากกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนในบริษัท บำรุงเมืองพลาซ่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย อีกทั้งในปี 2561 อัตราส่วนต้นทุนในการรับเหมาก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนด้านแรงงานที่มีต้นทุนมากขึ้นต่อที่อันดับ 7 เป็นของ “บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น” มีรายได้รวม 7,209 ล้านบาท ลดลง 1,947.7 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวม 9,156.70 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิของปี 2561 อยู่ที่ 666.92 ล้านบาท ลดลง 341.49 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 1,008.41 ล้านบาท

คริสเตียนีรอโปรเจ็กต์ EEC 

อันดับ 8 “บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย)” มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,135.91 ล้านบาท ลดลง 807.6 ล้านบาท จากปี 2560 มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,943.91 ล้านบาท ขาดทุน 423.07 ล้านบาท จากปี 2560 มีกำไรสุทธิ 94.47 ล้านบาท เป็นผลมาจากในปี 2561 สภาวะการแข่งขันในตลาดค่อนข้างดุเดือด บวกกับบริษัทมีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการประมูลงานบางโครงการมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำมาก ทำให้บริษัทต้องรับงานดังกล่าวท่ามกลางการแข่งขันเข้าประมูลโครงการต่าง ๆ ที่รุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจำนวนมาก และการโหมลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

อันดับ 9 “บมจ.พรีบิลท์” มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,921.77 ล้านบาท ลดลง 905.65 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวม 4,827.02 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 384.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.14 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 292.07 ล้านบาท 

โดยยอดรายได้ที่ลดลงมาจากความต่อเนื่องของงานในมือที่เปิดงานช้ากว่าที่กำหนด รวมถึงการที่ผู้ว่าจ้างตัดบางรายการของการเลือกซื้อของออก แต่ยังคงอัตรากำไรตามที่สัญญา ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตรากำไรส่วนงานรับเหมาก่อสร้างและงานขายแผ่นพื้น แต่หากรวมยอดกำไรจากผลดำเนินงานที่ถูกยกเลิกและกำไรที่เกิดจากการขายส่วนงานที่ยกเลิกในปี 2560 จะแสดงผลกำไรสุทธิในปี 2560 เป็น 703.55 ล้านบาท

เสาเข็มดันรายได้ “ซีฟโก้” พุ่ง 

ปิดท้ายอันดับ 10 กับ “บมจ.ซีฟโก้” ผู้รับเหมางานเสาเข็ม มีรายได้รวม 2,789.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 882.47 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้รวม 1,907.25 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 368.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157.33 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 210.88 ล้านบาท