เปิดสัมปทานแอร์พอร์ตซิตี้ “เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์”ร่วมชิง

ทอท.ลุย “เมืองการบินสุวรรณภูมิ” 2 หมื่นไร่ เปิดหน้าดิน 2 แปลงใหญ่ ดึงเอกชนลงทุนเชิงพาณิชย์ โรงแรม โลจิสติกส์ ออฟฟิศ ศูนย์การค้า ฯลฯ แลกสัมปทานระยะยาว 50 ปี นำร่อง 700 ไร่ ติดไบก์เลน เปิดรับฟังความเห็นเอกชน เม.ย.นี้ ยักษ์ใหญ่ไทย-เทศรุมแจมเพียบ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล สยามพิวรรธน์ นิคมอุตฯอมตะนคร เล็งตั้งบริษัทลูกลุยธุรกิจใหม่ผนึกบินไทยบุกคาร์โก้ เพิ่มพอร์ตรายได้น็อนแอโร 50%

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.ได้หารือร่วมกับกรมธนารักษ์ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกองทัพอากาศ (ทอ.) เพื่อพิจารณาปรับปรุงข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุสำหรับสนามบิน 6 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ เนื้อที่ 19,251 ไร่ สนามบินดอนเมือง และสนามบินภูมิภาค เนื้อที่รวม 8,184 ไร่ ประกอบด้วย สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง โดยมีแผนจะนำมาพัฒนาในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต

เพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ 

ขณะเดียวกัน มีแนวคิดจะเสนอปลดล็อกข้อกฎหมาย การคิดค่าเช่า จากการนำที่ดินพัฒนาเชิงพาณิชย์ 10 กิจกรรม ได้แก่ โรงแรม การขนส่งและโลจิสติกส์ สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ ร้านค้า และศูนย์การค้า การท่องเที่ยวและนันทนาการ การประชุมสัมมนาและนิทรรศการ ที่พักอาศัย การกีฬา การรักษาพยาบาล และกิจกรรมอื่น ๆ

เป้าหมายหลักเพื่อสร้างสมดุลรายได้ของ ทอท.ในอนาคต เพราะการพึ่งพารายได้จากการบินเพียงอย่างเดียว ความสุ่มเสี่ยงไม่แน่นอนจะมีสูง จึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ในส่วนที่นอกเหนือจากการบิน (nonaero) จากปัจจุบันอยู่ที่ 45% เป็น 50% ในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่พลิกโฉมของ ทอท. เพราะจะมีรายได้เติบโตมากกว่า 20% แยกเป็นรายได้ที่เกี่ยวกับการบิน 50% และที่ไม่เกี่ยวกับการบิน 50% อีกทั้งจะเป็นปีแรกที่มีรายได้จากธุรกิจคาร์โก้เข้ามาอีกทางหนึ่งด้วย

นับ 1 เมืองการบินพันไร่

“วันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ทอท.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมท่าอากาศยาน ในการพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบสนามบินในเชิงพาณิชย์แล้ว จาก 6 สนามบิน จะเริ่มนำร่องหาผู้ประกอบการร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรก และถือเป็นการนับหนึ่งในการพัฒนาเมืองการบินรอบสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการ”

นายนิตินัยกล่าวว่า ที่ดินแปลงแรกที่จะนำมาพัฒนาจากจำนวนที่ดินในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมด 19,251 ไร่ ที่เช่าจากกรมธนารักษ์ จะเริ่มในส่วนของที่ดินแปลงที่ 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ อยู่ด้านนอกอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันใช้พื้นที่บางส่วนก่อสร้างเป็นไบก์เลนไปแล้ว ยังเหลือประมาณ 700 ไร่ จะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนพัฒนาใน 10 กิจกรรมดังกล่าว ซึ่งรูปแบบการพัฒนาอาจเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เพราะอยู่ในเขตสนามบิน เช่น ธุรกิจคาร์โก้ โรงแรม รีเทล ซึ่งมีเอกชนไทยและต่างชาติสนใจลงทุนหลายราย

เจรจาธนารักษ์ขยายสัญญาเช่า 

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดระยะเวลาการเช่าจะสิ้นสุดในปี 2575 หรือเหลืออีกประมาณ 13 ปี อาจทำให้การลงทุนของเอกชนไม่คุ้มค่า ทาง ทอท.จะทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์ขอขยายสัญญาเช่าเพิ่มอีก 30 ปี ต่ออายุสัญญาเช่าได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี รวม 50 ปี เพื่อให้เอกชนสามารถลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่ขึ้น อีกแปลงเป็นที่ดินของ ทอท.เอง เนื้อที่ 723 ไร่ อยู่ใกล้วัดศรีวารีน้อย และอยู่นอกเขตสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติ พิจารณาอนุมัติให้ปรับสีผังเมืองจากสีเขียว (ที่ดินประเภทเกษตรกรรม) เป็นสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทราชการ) เพื่อให้สามารถพัฒนาได้มากขึ้น คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการหาเอกชนมาร่วมลงทุนพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ เบื้องต้นคาดว่ากิจกรรมคาร์โก้น่าจะเหมาะสมที่สุด

สำหรับที่ดินแปลงนี้มีเอกชนที่สนใจลงทุนโครงการขนาดใหญ่แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และล่าสุด บอร์ด ทอท.ได้อนุมัติยกที่ดินบางส่วนให้ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองปรือ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นำไปสร้างถนนเพื่อสาธารณะ เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่มีระบบสาธารณูปโภค และถนนเข้า-ออกค่อนข้างแคบ เหลือที่ดินรองรับการพัฒนาประมาณ 400 ไร่

เอกชนไทย-เทศสนใจตรึม

“ที่ผ่านมามีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติแสดงความสนใจ และเสนอโครงการพัฒนาที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้เข้ามาจำนวนมาก แต่เราก็ต้องเลือกโครงการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การลงทุนในบางกิจกรรมจะดึงเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP บางกิจกรรมจะเป็นร่วมทุนโดยจัดตั้งบริษัทลูกของ ทอท.บริหารจัดการ จะแตกแขนงธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจคาร์โก้ ได้ร่วมกับการบินไทย จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก หรือ certify hub เพื่อเป็นศูนย์กลางตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ และจัดตั้งบริษัททำธุรกิจเทรดดิ้ง จะเริ่มในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้” นายนิตินัยกล่าว

ขณะที่นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บมจ.ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงนามร่วมกับกรมท่าอากาศยาน ขยายขอบเขตการพัฒนาสนามบิน 6 แห่งของ ทอท. ให้สามารถพัฒนาเป็นกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการบิน เพื่อให้มีรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น แยกเป็นที่ดินสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 1,000 ไร่ เชียงรายกว่า 300 ไร่ หาดใหญ่กว่า 200 ไร่ เชียงใหม่ 3 ไร่ ส่วนภูเก็ตและดอนเมืองใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่แล้ว

“ผลตอบแทนแต่ละกิจกรรมจะไม่เหมือนค่าเช่าปกติ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่เราไม่เคยมี เช่น ไมซ์ ศูนย์ประชุม อยู่ที่โมเดลการพัฒนาที่นักลงทุนจะเสนอ และทีโออาร์ที่จะจัดทำขึ้นเพื่อเปิดประมูล แต่ในภาพรวมไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว” 

เม.ย.เปิดมาร์เก็ตซาวน์ดิ้ง 

นายวิชัยกล่าวว่า ภายในเดือนเมษายนนี้จะนำที่แปลงที่ 37 ประมาณ 700-800 ไร่ เปิดทดสอบความสนใจภาคเอกชนที่สนใจลงทุนว่าจะพัฒนาโครงการรูปแบบไหน ใน 10 กิจกรรม เช่น โรงแรม ศูนย์ประชุม โลจิสติกส์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม จากที่ก่อนหน้านี้ ทอท.เคยจัดทดสอบความสนใจไปครั้งหนึ่ง ปรากฏว่ามีเอกชนสนใจหลายราย เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มสยามพิวรรธน์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นต้น

คาดว่าการลงทุนโครงการจะมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และระยะเวลาสัมปทานจะเป็นระยะยาวสูงสุด 50 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการพัฒนาของที่ดินแปลงที่ 37 ได้เริ่มต้นภายในปีนี้ อาจนำร่องโครงการลงทุนขนาดเล็ก ๆ ก่อน ส่วนที่ดิน 723 ไร่ อาจเริ่มจากการพัฒนาเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ 723 ไร่ แปลงใกล้วัดศรีวารีน้อย ก่อนหน้านี้ ทอท.เคยกำหนดมาสเตอร์แพลนจะพัฒนาเป็นแอร์พอร์ตซิตี้รูปแบบผสมผสาน เช่น โรงแรม ที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า ส่วนที่ดินแปลง 37 รูปแบบการพัฒนาเดิมที่ ทอท.ศึกษาไว้ แบ่งการพัฒนาเป็น 7 โครงการ มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 2.ศูนย์แสดงสินค้าและการส่งออกระหว่างประเทศ 3.อาคารสำนักงานรองรับธุรกิจด้านท่าอากาศยาน 4.ศูนย์แสดงสินค้าชุมชน 5.แหล่งบันเทิงครบวงจร ทั้งโรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง และโรงละคร 6.โรงแรมระดับ 3-5 ดาว และ 7.โรงพยาบาลขนาด 150-200 เตียง

ได้อานิสงส์ EEC-ไฮสปีด

ส่วนที่เร่งนำมาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในช่วงนี้ นอกจากเป็นไปตามแนวทางสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากธุรกิจการบินเพื่อความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ยังสอดรับกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ที่ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างการเจรจากับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร

เนื่องจากพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในจุดเชื่อมต่อที่สามารถเชื่อมโยงกับ 3 จังหวัดอีอีซี ทั้งการอยู่อาศัย แหล่งช็อปปิ้ง แหล่งงาน ตลอดจนการขนส่งและการเดินทาง การพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ กับอีอีซี และไฮสปีดเทรนไปอีอีซี จึงน่าจะเอื้อกัน ที่สำคัญ พื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิจะได้รับอานิสงส์จากโครงการเมกะโปรเจ็กต์โครงการนี้อย่างมาก

ธนารักษ์เปิดไฟเขียว

ด้านนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ยังไม่ได้รับหนังสือหารือเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจาก ทอท. แต่หากจะขอขยายเวลาเช่าที่ดินสนามบินสุวรรณภูมิออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่สัญญาเช่าจะสิ้นสุดในปี 2575 เพื่อนำที่ดินที่เหลือบางส่วนไปเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนพัฒนาแบบ PPP มองว่ามีความเป็นไปได้ และจะไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับการขอขยายอายุสัญญาเช่า หากมีการหารืออย่างเป็นทางการน่าจะสามารถขยายเวลาให้ได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเป็นคู่สัญญาเดิมอยู่แล้ว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!