“อาคม” ขึ้นเหนือขนเมกะโปรเจ็กต์โชว์คนเชียงใหม่เร่งทางคู่-สนามบิน-ไฮเวย์หนุนขนส่งท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2562 ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อ “ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “คมนาคมทุกโหมด ตอบโจทย์ประเทศไทย” ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 4 โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และการสร้าง การรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน และให้ถือเป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง

โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ประกอบกับคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแปลงเป็นแผนงาน โครงการ แผนปฏิบัติการและกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาะบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (2561 – 2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558 – 2565 เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพการเป็นประตูการค้าหลักและเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ อำนวยความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคตามกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ สร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงระบบคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมไทยบนพื้นฐานของการคิดค้นนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

โดยนายอาคมนำเสนอภาพรวมยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี แบ่งการพัฒนา 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (2561 – 2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรม และบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – โคราช และท่าอากาศยานเบตง

ระยะที่ 2 โครงการที่ดำเนินการในปี 2566 – 2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี 2571 – 2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท และระยะที่ 4 ดำเนินการในปี 2576 – 2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท

โดยมีโครงการสำคัญที่เร่งรัดผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ ยกระดับ การเดินทางและขนส่งสินค้าในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1) ทางราง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ, ปากน้ำโพ – เด่นชัย, เด่นชัย – เชียงใหม่, เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และการศึกษารถไฟฟ้ารางเบาเพื่อการเดินทางที่คล่องตัวและลดปัญหาการจราจร

2) ทางอากาศ เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานลำปาง และท่าอากาศยานแพร่

3) ทางถนน ประกอบด้วย ถนนไฮเวย์ ช่วงเชียงใหม่ – ลำปาง – พะเยา – เชียงราย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตาก – แม่สอด, สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค จุดพักรถบรรทุก และทางลอดฟ้าฮ่าม

4) ทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และการพัฒนาท่าเรือบกที่จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ การจัดงานนิทรรศการและเสวนาการสร้างการรับรู้ฯ “ONE Transport for All 2019 : Mobility Connect Technology” จะจัดขึ้นอีก 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครราชสีมา และกระบี่