ประมูลระบบเก็บค่าผ่านทาง 2 มอเตอร์เวย์ เดิมพัน 6 หมื่นล้าน ดึงกลุ่มทุนนานาชาติเฮโลแข่งไทย

กรมทางหลวงดึงเอกชนไทย-เทศประมูลระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรี รับค่าจ้าง 30 ปี เป็นค่าตอบแทน รวม 2 เส้นทาง 6 หมื่นล้าน ดีเดย์ ม.ค.ปีหน้าเปิดขายซอง เผยยักษ์รับเหมา “อิตาเลียนไทย-ยูนิคฯ” บิ๊กทางด่วน โทลล์เวย์ สามารถ กลุ่มทุนจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง ตบเท้าสนใจชิงเค้กคึกคัก จ่อรื้อค่าผ่านทางใหม่ ปรับตาม CPI ศึกษาจ้างเอกชนบริหารโครงการแทน ลดภาระต้นทุน ประเดิมสายพัทยา-มาบตาพุด

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งเป้าภายในเดือน ม.ค. 2561จะเปิดขายซองประมูลให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา รูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี โครงการมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง คือ บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม.กับบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.

ดึงเอกชนไทย-เทศร่วมประมูล

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.นครราชสีมามีมติเห็นชอบหลักการให้กรมดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 คาดว่าปลายปีหน้าจะเซ็นสัญญาและเริ่มดำเนินการได้ เพื่อให้เสร็จพร้อมกับงานโยธาให้เปิดบริการได้ตามแผนต้นปี 2563

“กรมจะเปิดประมูลแบบนานาชาติ มีทั้งเอกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วมประมูล ให้เกิดการแข่งขัน โครงการนี้เอกชนจะหาเงินมาลงทุนงานระบบและค่าลงทุนตั้งต้น (เงินลงทุนก้อนแรก) ของสายบางปะอิน-โคราชอยู่ที่ 8,704 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรีอยู่ที่ 6,394 ล้านบาท และร้บจ้างบริหารการเก็บค่าผ่านทางพร้อมบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุสัญญาเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่”

นายธานินทร์กล่าวอีกว่า โดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายปี ซึ่ง ครม.อนุมัติกรอบวงเงินสายบางปะอิน-โคราช ไม่เกินจำนวน 33,258 ล้านบาท มีค่าตอบแทนอยู่ที่ 1,170 ล้านบาทต่อปี และบางใหญ่-กาญจนบุรีไม่เกินจำนวน 27,828 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนอยู่ที่ 979 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของเอกชนรายใดที่เสนอค่าตอบแทนต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากกรอบวงเงินที่ระบุยังเป็นผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น

คิดค่าผ่านทางตามระยะทาง

“รายได้ค่าผ่านทางจะเป็นของกรมทั้งหมด เราจ้างเอกชนจัดเก็บและบริหารโครงการพร้อมบำรุงรักษาให้ ซึ่งค่าผ่านทางสายบางปะอิน-โคราช มีอัตราแรกเข้า 10 บาท จะคิด 1.25 บาท/กม. คาดว่าปีแรกมีรายได้ 2,063 ล้านบาท ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีอัตราแรกเข้า 10 บาท หลังจากนั้นจะคิด 1.50 บาท/กม.จะราคาสูงกว่าสายโคราชเพราะระยะทางสั้นกว่า ส่วนรายได้ปีแรกอยู่ที่ 945 ล้านบาท”

ทั้งนี้จะกำหนดให้ปรับค่าผ่านทางได้ตามดัชนีผู้บริโภค(CPI) เหมือนโครงการทางด่วน เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านรายได้และค่าใช้จ่ายของโครงการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและลดภาระเงินกองทุนค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ด้วย ตามที่สภาพัฒน์มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

บิ๊กรับเหมาร่วมแจม

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเอกชนที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลมีทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เช่น บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ , บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) , กลุ่มสามารถ และนักลงทุนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง

นายธานินทร์ยังกล่าวถึงการปรับค่าผ่านทางของมอเตอร์เวย์ ว่า กรมกำลังศึกษาการปรับค่าผ่านทางมอร์เตอร์เวย์ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปัจจุบัน และในปี 2561 จะปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทางสาย 9 หรือวงแหวนรอบนอกตะวันออกเป็นระบบปิดคือเก็บเงินตามระยะทางที่ใช้จริง จากเดิมเป็นระบบเปิด เพื่อให้การเก็บค่าผ่านทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เล็งจ้างเอกชนบริหารทุกโครงการ อีกทั้งศึกษาจ้างเอกชน (Outsource) บริหารโครงการมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุดจะเปิดบริการในปี 2563 เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องบุคลากรที่ปัจจุบันกรมมีลูกจ้างชั่วคราวอยู่ประมาณ 2,300 คน ซึ่งจ่ายค่าแรงให้ 337 บาท/คน/วัน เป็นต้นทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเอกชนที่จะบริหารต้นทุนตรงนี้ได้ดีกว่า หากผลศึกษาออกมาว่ามีความคุ้มค่ากรมจะนำไปใช้กับมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา (สาย 7) และวงแหวนรอบนอกตะวันออก (สาย 9) ด้วย