RISC ระดมสมอง แก้ปัญหา PM 2.5

MQDC ของ “บี-ทิพาภรณ์ อริยวนารมย์” จัดอีเวนต์ถี่ยิบ ล่าสุด “RISC-ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ที่มี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับพันธมิตรวงการภูมิสถาปนิกและผู้ประกอบการ จัดสัมมนา 2 เวทีว่าด้วยปัญหา PM 2.5

ทั้งนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อสุขภาวะของคนเมือง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมทั้งขยายวงกว้างไปยังหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นับเป็น urban air pollution หรือมลพิษทางอากาศ นำไปสู่การเปิดเวทีเสวนาสาธารณะ TGWA (Thai Global Warming Academy) ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “ข้อมูลใหม่-มลพิษอากาศ PM 2.5 ประเทศไทยเดือนมกราคม 2562” ณ ศูนย์ RISC ชั้น 4 แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด

สรุปสาระสำคัญ อาทิ “ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล” ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย (TGWA) มูลนิธินภามิตร ระบุว่า ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ช่วงเวลา 19.00 น. ถึง 6 โมงเช้า มีปริมาณฝุ่นละอองมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของคนในแต่ละพื้นที่

โดยมี 4 แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ไฮโดรคาร์บอนที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากยานพาหนะ และความร้อนจากการจราจรทางถนน

ข้อแนะนำแก้ปัญหาเบื้องต้นโดยสร้างแนวต้นไม้ลึก 10 เมตร เพื่อกันเสียงและฝุ่นละออง สร้างความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้เกิดลมเพื่อทำให้ฝุ่นละอองลงสู่พื้น

รศ.ดร.สิงห์กล่าวเสริมเรื่องการติดตั้ง weather station ตามจุดต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการรับรู้คุณภาพอากาศ เนื่องจากกรุงเทพฯมีตึกสูงจำนวนมาก การวัดคุณภาพอากาศตามระดับความสูงจึงเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างตึกสูง เสนอให้มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในอาคาร และปลูกต้นไม้ในเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว-สร้างคุณภาพอากาศที่ดี

“ดร.อัมรินทร์ ดรัณภพ” ที่ปรึกษา บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอการวัดค่าฝุ่นละอองด้วยวิธีการ dynamic light scattering (DLS) เทคนิควัดขนาดสารตัวอย่างในระดับนาโนเมตรตั้งแต่ 0.005-5 ไมโครเมตร

ทั้งยังระบุด้วยว่า อีกแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองคือ การกำจัดขยะโดยการนำมาเทบนพื้นที่ หรือ landfill ซึ่งเป็นการฝังขยะแบบไม่กลบหน้าดิน ทำให้ฝุ่นละอองถูกพัดไปตามลม ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องฝุ่น รัฐบาลจึงควรมีการให้ความรู้ด้านการจัดขยะอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว

ข้อเสนอจากเวทีเสวนายังรวมถึงการสร้างพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้เพิ่มเป็น 12 เมตร (จากเดิม 6 เมตร) จากหน้าคอนโดมิเนียม และมีการแนะนำให้เพิ่มทางเดินเท้า และการใช้จักรยาน เพื่อลดปัญหาความหนาแน่นทางจราจรบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมแบบช่วยกันคนละไม้คนละมือ ปัญหา PM 2.5 สามารถแก้ไขได้ ถูกต้อง ต่อเนื่อง และยั่งยืน