มอเตอร์เวย์สายอีสาน สร้างเร็วกว่าแผน ทยอยเปิดใช้ฟรีปีหน้า ไม่รองานระบบ

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

กำลังเร่งตอกเข็มอย่างหนักหน่วง สำหรับไซต์มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซของกรมทางหลวงที่ทุ่มเม็ดเงินก่อสร้าง 59,409 ล้านบาท มีผู้รับเหมาลงพื้นที่พรึ่บ 40 สัญญา

ตามแผนจะเปิดบริการแบบเต็มรูปแบบในปี 2564 แต่ล่าสุดมีแนวโน้มจะขยับไปเป็น 2565 เนื่องจากต้องรอเอกชนผู้ลงทุนงานระบบมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ จะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดขายทีโออาร์ประมูล กว่าจะได้เอกชนคาดว่าน่าจะเป็นภายในเดือน ธ.ค.นี้

ลุ้นทดลองเปิดใช้ฟรีปีหน้า

แต่เพราะงานก่อสร้างที่ผู้รับเหมาพร้อมใจลุยงานจนรุดหน้าไปมาก เพื่อไม่ให้งานก่อสร้างเป็นแม่สายบัวรอเก้อ ทางกรมทางหลวงจะปรับแผนใหม่ อาจจะเปิดให้บริการฟรีไปก่อน

“อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความเป็นไปได้สูงตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นไป หากงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชที่ช่วงไหนที่แล้วเสร็จจะทยอยเปิดให้ทดลองใช้ฟรีไปก่อน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ก่อสร้างรุดหน้า 68%

เมื่อแล้วเสร็จโครงการนี้จะมีทางต่างระดับ 10 แห่ง ด่านเก็บเงิน 9 แห่ง ช่วยเชื่อมการขนส่งและการเดินทางกรุงเทพฯ ภาคกลาง และอีสานให้รวดเร็วขึ้น ร่นเวลาเดินทาง 3 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา จาก 3 ชั่วโมงครึ่ง เหลือ 127 นาที จะเก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง เริ่มต้น 10 บาท จากนั้นคิดกิโลเมตรละ 1.25 บาท รวมตลอดเส้นทางอยู่ที่ประมาณ 200 กว่าบาท

สำหรับความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง “กมล หมั่นทำ” รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน ก.พ. งานโยธาคืบหน้าแล้ว 68% ล่าช้ากว่าแผนงาน 6.217% แบ่งเป็นส่วนสะพานยกระดับจำนวน 20 สัญญา มีความคืบหน้ารวม 90% จะเสร็จทั้งหมดภายในปี 2562 และส่วนของถนนระดับพื้นอีก 20 ตอน ภาพรวมอยู่ที่ 60%

เร่งเสร็จทั้งโครงการปี”63

สาเหตุที่งานระดับพื้นดินล่าช้า เพราะติดปัญหาด้านการปรับแบบในหลายจุด จากหลายสาเหตุ ได้เแก่ 1.ปัญหาแนวเส้นทางตัดผ่านชุมชนบริเวณ อ.ปากช่อง ชาวบ้านไปร้องเรียน ทำให้เกิดอุปสรรคในการเดินทางระหว่างชุมชน

2.แนวเส้นทางสัญญาที่ 1, 2 และ 39 มีเสาส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขวางอยู่ จึงหารือร่วมกับ กฟผ. ขอให้ยกเสาไฟให้สูงขึ้น หรือย้ายแนวเสาไฟฟ้าออก โดยกรมจะเป็นผู้ชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับทาง กฟผ.และ 3.สภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง บางช่วงออกแบบให้เป็นถนนระดับดิน

แต่เวลาผ่านไปเมื่อเข้าพื้นที่จริง พบว่ามีบ่อลึกประมาณ 15 เมตร จึงต้องปรับเป็นสะพานแทน แต่ทั้งหมดไม่ต้องเริ่มกระบวนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรมจะเร่งรัดการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดให้แล้วเสร็จปลายปี 2563 มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2565 ซึ่งขยับจากเดิมที่จะเปิดปี 2563 แต่เนื่องจากงานระบบล่าช้าทำให้เลื่อนเป็นปี 2564 ล่าสุดเป็นภายในปี 2565

สำหรับสัญญาก่อสร้างของโครงการ แบ่งออกเป็น 40 สัญญา จำนวน 2 ตอน ตอนแรกช่วงบางปะอิน-ปากช่อง และตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-นครราชสีมา ขณะนี้แล้วเสร็จ 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 30 ช่วง กม.ที่ 132+955-กม.ที่ 135+150 ระยะทาง 2.19 กม. มูลค่างาน 1,588 ล้านบาท และสัญญาที่ 35 ช่วง กม.ที่ 141+810-กม.ที่ 144+000 ระยะทาง 2.19 กม. มูลค่างาน 1,462 ล้านบาท

O&M ได้ตัว ธ.ค.นี้

นายกมลยังกล่าวถึงงานสัญญาที่ 41 งานบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP gross cost ระยะเวลา 33 ปี แบ่งเป็นก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง งานบำรุงรักษาของโครงการ เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท 3 ปี และบำรุงรักษาอีก 30 ปี โดยรัฐจะจ่ายเป็นผลตอบแทน ภายใต้กรอบวงเงินที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท

โดยกรมอยู่ระหว่างเปิดให้เอกชนเข้าซื้อซองประมูลตั้งแต่วันที่ 27 ก พ.-27 มี.ค.นี้ ณ วันที่ 7 มี.ค. มีผู้มาซื้อซองแล้ว 10 ราย ได้แก่ 1.บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง 2.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

3.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 4.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 5.บจก.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 6.บจก.ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง 7.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 8.บจก.สี่แสงการโยธา (1979) 9.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และ 10.บมจ.ช.การช่าง

“เม.ย.จะชี้แจงทีโออาร์กับเอกชนผู้ซื้อซองและพาลงพื้นที่โครงการจริงก่อนจะเปิดให้ยื่นซองในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ และจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนซองที่ 1 คุณสมบัติวันที่ 3 ก.ค.นี้”

ทั้งนี้ เอกชนที่จะรวมตัวมายื่นซองในลักษณะกิจการร่วมค้าหรือจอยต์เวนเจอร์ ผู้ที่ร่วมหุ้นกันจะต้องเป็นเอกชนที่ซื้อซองประมูลเท่านั้น และให้สัดส่วนต่างประเทศร่วมทุนสูงสุดไม่เกิน 49% คาดว่าจะได้เอกชนผู้ร่วมทุนในเดือน ธ.ค.นี้

ประมูลจุดพักรถรอ ครม.ใหม่

ขณะที่การเปิดประมูลสร้างที่พักริมทางซึ่งเป็นงานสัญญาที่ 42 ของโครงการ แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษา เบื้องต้นมีโมเดลพัฒนา 3 แบบ คือ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คาดว่าจะเสนอไม่ทันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ เนื่องจากจะต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคมก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลกระทบกับกำหนดเปิดให้บริการในปี 2565 เพราะยังเป็นงานที่ยังสามารถรอได้

สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช มีจุดพักรถ 8 แห่ง ประกอบด้วย

1.ที่พักริมทางหลวง (Rest Area) จำนวน 5 แห่ง ที่วังน้อย หนองแค ทับกวาง ปากช่อง และสูงเนิน ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่จอดรถ ห้องน้ำ ศาลาพักผ่อน และร้านอาหาร

2.สถานีบริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง ที่สระบุรีและ อ.สีคิ้ว จะมีศูนย์ข้อมูลทางหลวง ร้านค้าขนาดเล็ก สถานีบริการน้ำมัน เพิ่มเติมจากสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักริมทางหลวง และ 3.ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) จำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่ ถ.ธนะรัชต์ อ.ปากช่อง เป็นพื้นที่ใหญ่สุด 50 ไร่ จะมีร้านค้าขนาดใหญ่ สถานีตำรวจย่อย ศูนย์กู้ภัยแจ้งเหตุและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งกรมทางหลวงจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ระยะเวลาดำเนินการ 20-30 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท/แห่ง