รถไฟฟังเสียงคนแปดริ้ว เดินหน้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 29 สิงหาคม 2560 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียด แนวเส้นทาง รูปแบบการก่อสร้าง และประโยชน์ของโครงการ
สำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยได้รับการบรรจุไว้ในแผนการดำเนินโครงการและงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2560 – 2561

โดยเป็นการปรับปรุงโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานและโครงการรถไฟความเร็วสูง ประกอบด้วย 1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์) 2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท – ดอนเมือง 3.โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยอง (HSR) เพื่อให้รถไฟฟ้าแบบ City Line และการเดินรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์เป็นโครงการเดียว สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้มาใช้บริการ

แนวเส้นทางโครงการที่ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง

รูปแบบโครงสร้างของโครงการจะก่อสร้างเป็นทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (standard Gauge) 2 ช่วง คือ พญาไท – ดอนเมือง และลาดกระบัง – ระยอง พร้อมทางรถไฟเชื่อมเข้าออกสนามบิน ส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟยกระดับ มีส่วนที่เป็นอุโมงค์ทางคู่บริเวณช่วงถนนพระราม 6 – สามเสน สถานีสุวรรณภูมิ และเขาชีจรรย์ รวมระยะทางประมาณ 260 กม. มีศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่คลองตัน เพื่อรองรับรถไฟฟ้า City Line ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง และมีศูนย์กลางควบคุมการเดินรถ (Operations Control Centre – OCC) ของโครงการตั้งอยู่ที่ศูนย์ซ่อม บำรุงทั้ง 2 แห่ง
โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางของการรถไฟฯเดิมไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้เตรียมเสนอมาตรการป้องกัน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอีกด้วย

สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและวัดวาอารามที่สำคัญ อาทิ วัดโสธรวรารามวรวิหาร (วัดหลวงพ่อโสธร) ตลาดน้ำบางคล้า วัดสมานรัตนาราม ตลาดคลองสวน 100 ปี เป็นต้น

เมื่อการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมให้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา อีกทั้งเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้า City Line กว่า 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงถึงกว่า 65,630 คน/เที่ยว/วัน

ทั้งนี้ การรถไฟฯ จะจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (สรุปผลการศึกษาโครงการ) ประมาณเดือนตุลาคม 2560 จากนั้นจะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมการประชุมนำมาพิจารณาประกอบรายงานผลการศึกษาโครงการฯ และจะจัดเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป