แกะกล่องมือเก๋า “จรัญ เกษร” MD นิติบุคคลค่ายอนันดาฯ

เป็นผู้บริหารวงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคนบอกว่าฉายาเขาคือเจ้าพ่อนิติบุคคลคอนโดฯ นั่งตำแหน่ง MD บริษัทลูกในเครือ LPN เมื่อปี 2549 จนถึงวันสุดท้าย 31 ธันวาคม 2561 ล่าสุด “จรัญ เกษร” ย้ายมานั่งเก้าอี้ใหม่บนตำแหน่ง MD of strategic property management บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงแนวคิดแนวทางที่จะเดินบนความรับผิดชอบงานอาฟเตอร์เซลเซอร์วิสสินค้าบ้าน-คอนโดมิเนียมของกลุ่มอนันดาฯนับจากนี้

Q : จุดโฟกัสที่เข้ามาดู

จุดขายห้องชุด Mostly ที่เราเข้าใจกันตลอดเวลาคือ เรื่องทำเล ดีไซน์ ฟาซิลิตี้ที่ตอบโจทย์ นิวเจน เจน C นั่นคือคอนเซ็ปต์การขายโปรดักต์ แต่หลังจากนั้นผมเชื่อว่าเมื่อเข้ามาอยู่อาศัย วันนี้มันถึงวลาแล้ว (งานบริหารหลังการขาย) เพราะปริมาณเริ่มเยอะ 4-5 ปีที่ผ่านมาขึ้นโครงการใหม่กระฉูดเลย

พอร์ตในมืออนันดาฯ ทำคอนโดฯ 45 โครงการ 25,000 ยูนิต หลุดออกไปสัก 10 โครงการ เหลือ 35 โครงการ ที่ดูแลเป็นเวลาสิบปีมาแล้ว ซึ่งเจนซีของอนันดาฯ ไม่เหมือนเจนลูกค้าของลุมพินีนะ อายุลูกค้าอนันดาฯ 40 ปีลงมา ต่ำกว่าลุมพินี ยกเว้นลุมพินีคอนโดทาวน์ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดล่าง แต่อนันดาฯเป็นตลาดกลาง-บน ที่แบ็กกราวนด์ดี และเป็นลูกค้าอินเวสเตอร์มากกว่าแน่ ๆ

ฉะนั้น วิธีคิดสังคมพวกนี้จะมีความต่างจากสิ่งที่เราเคยทำ แต่เราก็มีความเชื่อว่าความเป็น humanity สามารถใช้ได้กับทุกคนแหละ เพียงแต่ที่นี่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาซัพพอร์ตเยอะ

วิธีคิด วิธีทำงาน ถ้าเริ่มต้นบอกว่าอยากให้เขา (เจ้าของร่วม) มีความสุข นั่นคือวิธีคิด ที่เหลือเป็นวิธีทำงาน ถ้าไม่ได้นั่งคุยเราก็ไม่เคยนึกว่าคุณโก้ (ชานนท์ เรืองกฤตยา) จะคุยเรื่องราวที่เป็น humanity ภาพที่ปรากฏจริง ๆ ถูกแซมด้วยหรูหรา ฟู่ฟ่า ฟาซาด แต่ลึก ๆ เขาทำซีเอสอาร์เยอะ

Q : หลังจากนี้นิติอนันดาฯ จะเป็นยังไง

ก็เป็นแบบเดิมที่เขาตั้งเอาไว้ เราไม่ได้จะเข้ามาทำเองหมดนะ เนื่องจากอนันดาฯ มีแบรนด์ท็อปไลน์คือแอชตัน ราคาลักเซอรี่ 2-2.5 แสน/ตร.ม.ให้ JLL (โจนส์ แลง ลาซาลล์) ไปทำ แบรนด์ตรงกลาง ไอดีโอคิว, ไอดีโอ โมบิ 1-2 แสน/ตร.ม.เราทำเองผ่าน บ.เวอร์กส์ (WORKS) และแบรนด์แวลู ไอดีโอ เอลิโอ8 หมื่น-1 แสน/ตร.ม. ก็ให้เจ๊เหนียว (สมศรี เตชะไกรศรี LPN) มาทำ และแบรนด์ยูนิโอก็มีบริษัท QPM มาทำ โมเดลคือเป็นสแตรทิจิกอัลไลแอนซ์

Q : ลูกค้ากลุ่มอินเวสเตอร์

มีสองมิติ เรซิเดนซ์ดี อินเวสเตอร์ดี,เรซิเดนซ์ดี เทิร์นเป็นโอว์นเนอร์ หมายความว่า ถ้าเรซิเดนซ์เขามีความสุขดี ก็มีผลดีต่ออินเวสเตอร์ คุณก็หาผู้เช่าได้ง่าย เพราะผู้เช่ายินดีจะอยู่ยาว อีกมิติคือเรซิเดนซ์ดีก็เทิร์นตัวเองเป็น co-owner เป็นเจ้าของร่วม จากเช่าก็เปลี่ยนเป็นซื้อฉะนั้น โครงการอนันดาฯ มีทั้งผู้อยู่ที่เป็นเจ้าของร่วมจริง (เจ้าของห้องชุด) กับเรซิเดนซ์ที่เป็นผู้เช่า ซึ่งอนันดาฯมีผู้เช่ามากกว่าลุมพินีเพราะทำเลอยู่กลางเมืองคอนโดฯลุมพินีมีผู้เช่า 15-20%

ส่วนอนันดาฯมีมากกว่านั้น พอร์ตจำนวนคน ห้องชุด 25,000 ยูนิต น่าจะคูณ 1.6-1.7 คน/ห้อง เพราะหลัก ๆ คือ คนทำงาน เท่ากับน่าจะมีผู้พักอาศัย 3.5-4 หมื่นคน

Q : ปีนี้จะเห็นอะไรอย่างน้อย

ต้องบอกว่าเท่าที่สัมผัส เท่าที่คุยกับทีมงาน ฟอร์แมตที่เขาตั้งกันไว้มันสะท้อนความเป็นไฮเทคโนโลยีสูง ฉะนั้น สิ่งที่เราคิดว่าถ้าเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต เราต้องเอาคนไปต่อไปเชื่อม โดยนำไฮเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือใช้ เรื่องนามธรรมไม่สามารถเห็นได้ในชั่วพริบตา แวบเดียว ไม่มีทางหรอก ต้องใช้เวลาตอนทำชุมชนน่าอยู่ ใน LPN พี่พิเชษฐ์ (ศุภกิจจานุสันติ์ กรรมการ LPN) เริ่มไว้แล้ว พอเข้ามาก็ขอเปลี่ยน ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนลักษณะ เปลี่ยนการนำเสนอเมื่อปี 2550 จนถึงปี 2561 ในขณะที่ขึ้นเป็น MD ที่ LPN ในปี 2549 เท่ากับ 11 ปีที่ทำที่โน่น เราทำตั้ง 5 ปีนะถึงจะเริ่มรับรู้กันว่า ชุมชนน่าอยู่เป็นอย่างนี้เองเหรอ

Q : ขอบเขตงาน

ดูหมด โครงสร้างอนันดาฯ มีสมาร์ทลิฟวิ่งดีพาร์ตเมนต์ แล้วตั้งบริษัทย่อยคือ เดอะเวิร์กส์ ทำพร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ประกอบด้วยส่วนที่เป็น strategic alliances คือ ส่วนของเรากับ The Works อีกส่วนคือ think thanks งาน CRD-community research & development คล้ายกับโครงสร้างที่ทำใน LPN พวกนี้จะเชื่อมไปข้างหน้าเชื่อมไปหาต้นทาง และคิดเรื่องที่จะตอบโจทย์ในทุกโครงการที่เราจะทำซึ่งตำแหน่ง MD of strategic property management ซึ่งก็บอกคุณโก้-ชานนท์ คำว่าพร็อพเพอร์ตี้ไม่น่าใช้เพราะมันเป็นทรัพย์สิน แต่สิ่งที่เราทำตอนนี้ by vision สิ่งที่อยากให้เป็นคือ เรื่องคุณภาพชีวิต ต้องหาวิถีใหม่ขอบเขตงาน หลังจากโอน (ห้องชุด) ปุ๊บ เทกหมดเลย ทุกโครงการไม่ว่าใครมาบริหาร ต้องบริหารตามแนวทางที่เราตั้งตุ๊กตา แล้วก็แนวทางที่ต้องไปพัฒนาต่อในงานที่เกี่ยวข้องกับเซอร์วิสทั้งหมด

Q : Pain Point ลูกบ้านอนันดาฯ

ผมว่ายังไม่ใช่เพนพอยต์มั้ง อาจเป็นมิติอยู่ในสภาพที่มันควรจะเป็น ถามว่าอยู่ในระดับไหน ก็อยู่ระดับกลาง ๆ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่มี demand everything (ยิ้ม) คุณภาพชีวิตที่ดีอยู่แล้วต้องดีกว่าเดิม เส้นตรงนี้เป็นเส้นที่ต้องมานั่งวัดกัน ถามว่าฮาร์ดแวร์ที่ส่งไปให้มันดีไหม ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการ alocate แนวคิดและแนวปฏิบัติ แต่ถามว่าเอามาทั้งหมดไหม ไม่ได้หรอก ต้องมาปรับสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขามี เนื่องจากลูกบ้านอนันดาฯ เป็นกลุ่มที่มีความคาดหวังสูง ไม่ใช่รูปร่างหน้าตาสวยอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มมาเป็นนามธรรมด้วยเพราะอะไร เพราะคนซื้อที่นี่ถูกใจทำเล ดีไซน์ ราคาแอฟฟอร์ดได้ ที่เหลือคือต้องเจ๋ง อาฟเตอร์เซลเซอร์วิสต้องเจ๋ง เพราะคาดหวังมาแล้วจากทำเล ดีไซน์ โปรดักต์