คืบหน้าแต่ยังไม่จบ! ซี.พี.ขอเวลากล่อมพันธมิตรนอก-หาเงินทุนลุยไฮสปีดหวั่นรัฐบาลใหม่ล้มโปรเจ็กต์

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า การเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซี.พี. ในฐานะผู้ที่เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติที่ 119,425 ล้านบาท ถือว่าการเจรจามีความผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจาก ซี.พี.ยอมผ่อนคลายข้อเสนอเดิมลง โดยเฉพาะข้อเสนอด้านการเงิน ทำให้การเจรจาสามารถดำเนินการต่อได้ ถือว่าคืบหน้าไปแล้วกว่า 70-80%

สำหรับกรอบการเจรจาที่ได้พูดคุยกันมี 3 ประเด็น คือ 1.ด้านเงื่อนเวลา โดยเฉพาะกรณีการขอขยายอายุสัญญาสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี ซี.พี.ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นไปตามนั้นและไม่มีการต่อสัญญาให้แบบอัตโนมัต ที่ซี.พี.เสนอไปคือ เมื่ออายุสัญญาของโครงการหมดลง หากฝ่ายรัฐสนใจที่จะเจรจาเพื่อต่อสัญญากับซี.พี.ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนอายุสัญญาก็ค่อยไปว่ากันในการเจรจาเพื่อต่อสัญญาต่อไป ดังนั้น ขอยืนยันว่า โครงการนี้ยังคงมีอายุสัญญา 50 ปีเหมือนเดิม

2.ด้านการเงิน กลุ่มซี.พี.รายงานในที่ประชุมว่า กำลังเจรจากับพันธมิตรที่ดูแลด้านแหล่งเงินทุน 3 ประเทศ (ไทย จีน ญี่ปุ่น) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจรจาในระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศด้วย ต้องใช้เวลาในการเจรจา โดยทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างกังวลในเรื่องของความต่อเนื่องของโครงการ เนื่องจากใกล้เข้าสู่วันเลือกตั้งที่จะมีรัฐบาลใหม่มาบริหารแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย โดยคณะกรรมการคัดเลือกชี้แจงว่า ประเทศไทยมีการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเงินแน่นอน จึงขอให้ ซี.พี.กลับไปชี้แจงต่อในประเด็นนี้

ทาง ซี.พี.แจ้งในที่ประชุมว่า จะสามารถพูดคุยกับแหล่งเงินทุนและแจ้งผลกลับมาได้ภายในสัปดาห์นี้ ช้าสุดไม่เกินวันจันทร์หน้า (25 มี.ค.) หากสามารถเจรจากับแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้ ก็จะดำเนินการเจรจาต่อ

และการปรับถ้อยคำ (Wording) ในร่างสัญญา โดยเฉพาะถ้อยคำที่เฉพาะเจาะจงมากเกินไป และการเปิดทางเผื่อสำหรับการเจรจาในกรณีที่มีปัญหาที่มองไม่เห็น เช่น การย้ายสถานี, การทำสเปอไลน์ ซึ่งจะอยู่ในหัวข้อนี้ทั้งหมด และมีประเด็นที่ ซี.พี.กังวลไปก่อน เช่น การเขียนกำกับไม่ให้มีการสร้างทางแข่งขันขึ้นมาในอนาคต ร.ฟ.ท.ก็แนะนำและชี้แจงว่า โดยหลักไม่สามารถสร้างทางแข่งขันได้อยู่แล้ว เพราะดีมานด์ไม่พอ


นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า จะนัดเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ส่วนจะสามารถเจรจาจบได้เลยหรือไม่นั้น ก็ต้องดูเงื่อนไขการเจรจาก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเจรจาจะจบได้ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม ) รับทราบต่อไป