ปิดดีลไฮสปีดก่อนสงกรานต์ ซีพียอมถอนข้อเสนอพิเศษ

เร่งปิดดีลไฮสปีดก่อนสงกรานต์ ซี.พี.ยอมถอย ขอเวลาถกพันธมิตร กล่อมจีน-ญี่ปุ่นจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บอร์ดคัดเลือกนัดชี้ขาด 28 มี.ค. จับตาประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี 20-21 มี.ค.ยื่นซองเมืองการบินอู่ตะเภา ซี.พี.ลุยต่อ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า ผลเจรจา (19 มี.ค.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตร หรือกลุ่มซี.พี. ที่เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ถือว่าการเจรจาคืบหน้ามาก 70-80% หลังกลุ่มซี.พี.ยอมผ่อนคลาย 12 ข้อเสนอนอกทีโออาร์และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะด้านการเงิน กรอบเจรจาที่พูดคุยแยกเป็น 1.เงื่อนเวลาได้ข้อสรุปแล้ว อายุสัมปทานยังคง 50 ปี ซึ่งกลุ่มซี.พี.ชี้แจงความเข้าใจผิดคิดว่าจะต่อสัญญาอัตโนมัติเป็น 99 ปี ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ยอมถอยเงื่อนไขแล้ว เข้าใจตรงกันแล้วว่า หากรัฐจะดำเนินการต่อก็เจรจาหลังอายุสัญญาสิ้นสุดได้

2.ด้านการเงิน กลุ่มซี.พี.แจ้งที่ประชุมว่า กำลังเจรจากับพันธมิตรคือไทย จีน ญี่ปุ่น ในระดับรัฐบาล จึงต้องใช้เวลา โดยมีแนวโน้มที่ดี คาดได้ข้อสรุปไม่เกินวันที่ 25 มี.ค.นี้

“โครงการต้องใช้เงินลงทุนมาก กลุ่มซี.พี.ต้องการลดความเสี่ยง จึงต้องหาต้นทุนดอกเบี้ยต่ำที่สุด หากได้ข้อสรุป เงื่อนไขก่อนหน้านี้จะผ่อนคลายหมด เช่น ขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกหรือจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันภายหลัง” นายวรวุฒิกล่าวและว่า ต่างชาติหวั่นโครงการล้ม

“พันธมิตรต่างประเทศของ ซี.พี.กลัวนโยบายจะเปลี่ยนไปหลังมีรัฐบาลใหม่ เหมือนกรณีมาเลเซียที่รัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์กับสิงคโปร์ ซึ่งคณะกรรมการอธิบายว่า ไทยไม่เคยมีการกระทำแบบนั้น การรักษาวินัยการเงินการคลังเราเข้มแข็ง ไม่ต้องกังวลว่าจะล้มโครงการ พันธมิตรต่างประเทศที่ดูแหล่งเงินกู้ของ ซี.พี.คือองค์กรความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการพัฒนาเมืองในต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOIN) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ที่เคยเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 3.การปรับถ้อยคำในร่างสัญญาที่เฉพาะเจาะจงมากเกินไป เช่น การใช้คำว่ารัฐต้อง และการเปิดทางเผื่อสำหรับการเจรจากรณีที่มีปัญหาที่มองไม่เห็น เช่น ย้ายสถานี, การทำสเปอไลน์ และบางประเด็นที่ซี.พี.กังวลไปก่อน เช่น การเขียนกำกับไม่ให้มีการสร้างทางแข่งขันขึ้นในอนาคต

“ถือว่ากระดูกชิ้นใหญ่ที่ขว้างการเจรจาสลายหมดแล้ว เจรจาครั้งต่อไปคือ 28 มี.ค.เวลา 09.00 น. คาดว่าคงจบได้ก่อนสงกรานต์นี้ เพื่อเสนอ ครม.”

เร่งอู่ตะเภา-แหลมฉบัง

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะมีการเซ็นสัญญาเริ่มงานก่อสร้างในปีนี้ เพื่อเปิดบริการในปี 2566 นั้น โครงการอื่น ๆ ที่เปิดขายทีโออาร์ก่อนหน้านี้จะทยอยให้ยื่นซองประมูลภายใน 20 มี.ค. โดย บมจ.การบินไทยเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการศูนย์บำรุงอากาศยาน (MRO) จะได้ผู้ชนะเดือน เม.ย.แล้วเสร็จปี 2565 จากนั้นวันที่ 21 มี.ค.กองทัพเรือจะเปิดยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน 6,500 ไร่ มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท คาดได้ผู้ชนะเดือน เม.ย.นี้

โดยมีเอกชน 42 รายทั่วโลกซื้อทีโออาร์ ส่วนเอกชนไทย ได้แก่ การบินกรุงเทพ, การบินไทย, แกรนด์ แอสเสทฯ, คริสเตียนีฯ, คิง เพาเวอร์, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ, เซ็นทรัลพัฒนา, ไทคอนฯ, ไทยแอร์เอเชีย, บีทีเอสและอิตาเลียนไทยฯ จีนมี 6 บริษัท อาทิ ไชน่า คอมมูนิเคชั่นส์ คอนสตรัคชั่น, China GeZhouBa Group, ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, ไชน่า เรียลเวย์ฯ, ไชน่า สเตทฯ และไชน่า รีสอร์ซ (โฮลดิ้ง) ฝรั่งเศส 2 บริษัทคือเอดีพี และวินชี แอร์พอร์ท เยอรมนี มี AviAlliance Gmbh กับ Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide อินเดียคือ GMR Group Airport ญี่ปุ่น 5 บริษัท อาทิ AGP Corporation, JALUX Inc, JOIN, มิตซุย และ Sojitz Corporation มาเลเซีย คือ Malaysia Airportsฯ และตุรกีคือ TAV TEPE AKFEN NVESTMENTฯ รูปแบบเป็น PPP net cost 50 ปี เหมือนไฮสปีดเทรน ส่วนเอกชนลงทุน 5 โครงการ คือ 1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน สร้างลานจอดรถและมีสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยผู้ชนะต้องประสานงานกับผู้ชนะรถไฟความร็วสูง

3.ศูนย์ธุรกิจการค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรี และ 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ส่วนการกำหนดพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ทั้งนี้เอกชนจะยื่นข้อเสนอ 3 ซอง ทั้งเทคนิค แผนธุรกิจ และส่วนแบ่งรายได้วันที่ 29 มี.ค.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเปิดยื่นข้อเสนอท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โซน F วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท คาดได้ผู้ชนะเดือน เม.ย.

คาด 3 กลุ่มชิงเค้ก 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5 โครงการ เงินลงทุน 6.5 แสนล้านบาท ทุกโครงการจะได้ผู้ชนะในเดือน เม.ย.นี้

“สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินมีเอกชนสนใจมาก คาดว่าจะร่วมกลุ่มยื่นประมูล 2-3 กลุ่ม”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเครือ ซี.พี. กล่าวว่า ได้ซื้อซองประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินเพราะสนใจ แต่ต้องไปพิจารณาหาพันธมิตรร่วมลงทุนก่อน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง กล่าวว่า กลุ่ม BSR กำลังตัดสินใจจะประมูลสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งบางกอกแอร์เวย์สชวนเข้ากลุ่ม เพราะเป็นอินฟราสตรักเจอร์ที่สำคัญในอีอีซี น่าจะต่อยอดธุรกิจได้

คลิกอ่าน:การบินไทย-ปตท.เคาะแล้วไม่ยื่นประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา2.9 แสนล้าน ขอลุยซื้อเครื่องบินใหม่ฟื้นธุรกิจ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!