อัฐยายซื้อขนมยาย “ลดค่ารถไฟฟ้า” “บัตรตั๋วร่วมแมงมุม” แป้กรอปีหน้า

หนึ่งในนโยบายหาเสียงที่พรรคการเมืองนำมาชูโรงเรียกคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ นั่นคือสร้างรถไฟฟ้ากรุงเทพฯและปริมณฑลครบทุกสาย ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่รัฐสร้างเอง เช่น สีม่วงช่วง “เตาปูน-คลองบางไผ่” จาก 42 บาท เหลือ 15 บาท นั่งไปถึงหัวลำโพงจาก 70 บาท เหลือ 43 บาท

ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ในทางปฏิบัติอาจจะยาก เนื่องจากเป็นนโยบายเรียกว่า “อัฐยายซื้อขนมยาย” เพราะสุดท้ายรัฐก็ต้องควักงบประมาณจ่ายชดเชยส่วนต่างให้เอกชนผู้รับสัมปทาน หรือแม้แต่เส้นทางของรัฐเอง

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ รฟม.เป็นเจ้าของโครงการ โดยจ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BEM บริหาร 30 ปี หากรัฐมีนโยบายก็ลดราคาให้ได้ แต่รัฐต้องอุดหนุนงบประมาณให้ เนื่องจากสายสีม่วงปัจจุบันยังขาดทุนอยู่ ส่วนสายสีน้ำเงิน เป็นเส้นทางที่ BEM รับสัมปทาน คงเป็นไปได้ยาก หากเอกชนยอมลดราคาให้รัฐก็ต้องจ่ายชดเชยให้เช่นกัน

พูดถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่น่าจับตาไม่แพ้กันคือสายสีเขียวที่ “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเก็บค่าตั๋วทั้งโครงการ 15-65 บาท ทั้งส่วนที่เป็นสัมปทาน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) และส่วนต่อขยายที่ กทม.ดูแล

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดประมูล PPP หาเอกชนมาปลดหนี้กว่า 1 แสนล้านของสายสีเขียวต่อขยาย “แบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคต” ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขให้เก็บค่าโดยสารทั้งโครงข่ายไม่เกิน 65 บาท

ล่าสุดยังติดหล่มอยู่ที่กระทรวงการคลัง ยังไม่รู้ว่าจะปิดดีลทันรัฐบาล คสช.หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะมาเร็วหรือช้า “บีทีเอสซี” ก็ไม่สะทกสะท้าน เพราะได้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายจาก กทม.เป็นรายปีอยู่แล้ว

“รอ กทม.เปิด PPP สายสีเขียว ส่วนค่าโดยสารสูงสุดที่ กทม.ต้องการราคา 65 บาท ยังไม่ได้หารือเป็นทางการ ซึ่งบีทีเอสพร้อมช่วยทั้งนั้น แต่ที่ผ่านมามีแต่ กทม.ที่พูด” นายคีรี กาญจนพาสน์ บอสใหญ่บีทีเอสซีกล่าวย้ำ

สิ่งที่เจ้าพ่อบีทีเอสกังวล เป็นเรื่องค่าแรกเข้าที่ต้องจ่ายหลายต่อ อยากให้รัฐเข้ามาดูอย่างจริงจัง เพราะต่อไปไม่ได้มีแค่บีทีเอส สายสีน้ำเงิน สีม่วง แอร์พอร์ตลิงก์ ยังมีสายสีแดง สีชมพู สีเหลือง สีส้ม ทยอยเปิดใช้อีก

ที่ผ่านมานโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า รัฐบาล คสช.พยายามผลักดันผ่าน “ระบบตั๋วร่วมแมงมุม” ที่ผู้โดยสารถือบัตรใบเดียวนั่งรถไฟฟ้าได้ทุกสายทุกสีมีการทุ่มงบฯกว่า 300 ล้านบาท ออกแบบระบบมี “กลุ่มบีทีเอส” ดำเนินการให้ แต่สุดท้ายบัตรแมงมุมชักใยไปได้แค่ครึ่งทาง เมื่อระหว่างทางนโยบายเปลี่ยนจาก “ตั๋วร่วมแมงมุม” เป็น “ระบบ EMV” ที่เรียกขานว่าบัตรแมงมุม 4.0 แทน

ทั้งที่มีการผลิตบัตรแมงมุมแล้ว 2 แสนใบ แต่ไม่ให้เสียของเมื่อกลางปีที่แล้ว “รฟม.” นำบัตรแมงมุมไปแจกจ่ายประชาชนที่ใช้บริการสายสีน้ำเงินและสีม่วง จากนโยบายที่ไม่นิ่ง ทำให้ “บีทีเอส” ที่มี “บัตรแรบบิท” เป็นฐานใหญ่ในระบบที่ใช้ครบเครื่องทั้งนั่งบีทีเอส ซื้อสินค้าและบริการได้อยู่แล้ว จึงชะลอการลงทุนอัพเกรดระบบให้รองรับระบบตั๋วร่วมเวอร์ชั่นแมงมุม รอลงทุนรองรับระบบ EMV ที่รัฐบาลกำลังผลักดันรวดเดียว

ขณะที่ความคืบหน้าการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมให้เป็นระบบ EMV ผู้ว่าการ รฟม.อัพเดตว่า กำลังรอการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ครั้งสุดท้ายระหว่าง รฟม.และธนาคารกรุงไทยจากอัยการสูงสุด จากนั้นจะนำร่าง MOU เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของแต่ละฝ่าย คาดว่าจะอัพเกรดระบบทั้งหมดได้ในปลายปีนี้หรือช้าสุดไม่เกินต้นปี 2563

การอัพเกรดให้เป็น EMV ต้องปรับปรุงระบบ 2 ส่วนสำคัญ คือหัวอ่านตามประตูเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ไม่รวมส่วนต่อขยาย) และสายสีม่วง วงเงิน 250 ล้านบาท โดย รฟม.จะลงทุนทั้งหมด และการพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง วงเงิน 400 ล้านบาท มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ลงทุน เพื่อรองรับธนาคารอื่นและระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ในอนาคต

“บัตร EMV จะเป็นการจ่ายเงินหลังจากใช้งาน ผ่านบัญชีบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ส่วนบัตรตั๋วรวมแมงมุม 2.5 ที่ รฟม.มีอยู่แล้ว ก็ใช้งานได้แต่เป็นลักษณะเติมเงินในบัตรก่อนแล้วถึงใช้ได้ เมื่ออัพเกรดระบบเสร็จแล้ว ประชาชนจะมีทางเลือกใช้งานทั้ง 2 แบบ” ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวและว่าการเชื่อมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะนี้บัตรลอตใหม่ได้อัพเกรดระบบในบัตรเป็นแบบ EMV แล้ว แต่ระบบของ รฟม.ยังไม่รองรับ จะให้ผู้ที่ถือบัตรแบบใหม่ไปซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์ไปก่อน ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกันการนำค่ารถในบัตร

ไปแลกเป็นเงินสด ทั้งนี้กรณีผู้ที่ยังถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบบเดิมก็ใช้งานได้จนบัตรสิ้นสุดอายุใช้งานเหลืออีก 3 ปี

ขณะที่การเชื่อมต่อกับระบบสายสีเขียวทั้งเส้นทาง ต้องรอ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคงไม่ทันรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกระทรวงคมนาคม ต้องรอให้มีสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดใหม่ก่อน รวมถึงต้องดูทิศทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วยว่าจะผลักดันต่อหรือไม่