ไทม์ไลน์รถไฟฟ้าส่งท้าย คสช. “สีส้ม-ม่วงใต้-ภูเก็ต” รอรัฐบาลใหม่ปักตอม่อ

นับถอยหลัง “รัฐบาล คสช.” เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน จำต้องโบกมือลา พลิกดูโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนโดยรัฐบาลทหาร

นับจากเข้ามาบริหารประเทศ ได้ประทับตราอนุมัติไว้หลายสีหลายสาย ระยะทางรวมกว่า 168 กม. คิดเป็นมูลค่าโครงการกว่า 4.2 แสนล้านบาททั้งซูเปอร์โมโนเรลสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง, สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, สายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงพญาไท-หัวหมาก (missing link), โมโนเรลสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี-ประชาธิปก, สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, สายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และปิดท้าย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช

ล่าสุด “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บุกถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทุ้งรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบสารพัดสีให้เปิดหวูดตามแผน

ทยอยเปิดสายสีน้ำเงิน

ไฮไลต์อยู่ที่สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. ที่งานก่อสร้างเสร็จ 100% นายไพรินทร์ย้ำกับ รฟม.ให้เร่งเปิดบริการช่วง “หัวลำโพง-บางแค” ให้เร็วขึ้น คาดว่าจะเริ่มทดสอบขบวนรถเสมือนจริงได้ในเดือน เม.ย.นี้ โดยรถขบวนแรกจะมาถึงวันที่ 11 เม.ย.นี้ และทยอยครบ 16 ขบวนในเดือน ก.ย. และครบทั้ง 35 ขบวนในเดือน มี.ค. 2563

ภายในเดือน ก.ค.จะเปิดใช้ฟรี แบ่งเป็นรอบ ๆ และเปิดบริการเต็มรูปแบบในเดือน ก.ย.นี้ คิดค่าโดยสาร 16-42 บาท หากเดินทางจากสายสีม่วงมาเชื่อมกับระบบสีน้ำเงินจะเสียค่าโดยสารสูงสุดที่ 70 บาทตามเดิม ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้ประชาชนโดยสารฟรีในช่วงเดือน ม.ค. และจะเปิดเต็มรูปแบบในเดือน มี.ค. 2563

“หลังเปิดใช้ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 200,000 คน/วัน ทำให้ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันของสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทางเพิ่มขึ้นจากเดิม 360,000 คน/วัน เป็น 400,000 คน/วัน เมื่อช่วงบางซื่อ-ท่าพระเปิดให้บริการ ยอดผู้โดยสารรวมของสายสีน้ำเงินจะสูงขึ้นอีกเป็น 700,000 คน/วัน ยังส่งผลให้ยอดผู้ใช้สายสีม่วง เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน/วัน จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 คน/วัน”

เคลียร์ กทม.อุโมงค์แยกไฟฉาย

ขณะที่ปัญหาโครงสร้างสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ทับซ้อนกับทางลอดแยกไฟฉายของ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ทาง กทม.ส่งมอบการก่อสร้างให้ รฟม.ดำเนินการต่อแล้ว ซึ่งพื้นที่ทับซ้อนเป็นอุโมงค์ต้องลอดใต้แยก 600 เมตร ต้องตอกเสาเข็มลงระยะห่างกัน 35 เมตร ประมาณ 15 ต้น ซึ่ง รฟม.ออกแบบให้เสาเข็มที่ต้องปักผ่านทางลอดลงไป สามารถใช้งานเป็นโครงสร้างร่วมได้ มีค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท

ส่วนสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม. เงินลงทุน 21,197 ล้านบาท จะชะลอไปก่อน รอประเมินปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินทั้ง 3 ช่วงให้ได้อย่างน้อย 800,000-1,000,000 คน/วันก่อน ถึงจะพิจารณาเจรจากับผู้รับสัมปทาน คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อ

ภายในปีนี้นอกจากสีน้ำเงินต่อขยายจะวิ่งไปถึงฝั่งธนบุรี ยังมีสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วง “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” จะทยอยเปิดบริการเช่นกัน ภายในเดือน ส.ค.นี้ หรืออย่างช้าปลายปีนี้ จะวิ่งจากหมอชิตไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าวจากนั้นในปี 2563 เปิดสถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม สถานี ม.เกษตรศาสตร์ และสถานีกรมป่าไม้ ถึงสถานีคูคต ภายในปี 2564

พื้นที่ส้ม-ชมพู-เหลืองฉลุย

ขณะเดียวกันเร่งรัด 3 รถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง ทั้งสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.57 กม. เงินลงทุน 107,540 ล้านบาท

ปัจจุบันมีผลงาน 29.30% มีแผนงานบางส่วนที่เริ่มได้ช้า ต้องปรับแผนใหม่ ประกอบกับ กทม.ส่งมอบพื้นที่ให้ช้า เช่น สถานีราษฎร์พัฒนา มีการขยับสถานี ต้องเปลี่ยนแปลงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และสถานีลำสาลี ที่มีโครงการทับซ้อนกับ กทม. คือ โครงการทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร จากแยกลำสาลี-คลองบ้านม้า ล่าสุด กทม.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เข้าไปก่อสร้างได้แล้ว แต่ยังทำให้แผนงานล่าช้าไป 4-5 เดือน มีกำหนดเปิดบริการในปี 2566

ด้านโมโนเรล 2 สายที่กลุ่มบีทีเอสลงทุน PPP ทั้งโครงการ ยังล่าช้ากว่าแผน 4% โดยสายสีชมพูช่วง “แคราย-มีนบุรี” ระยะทาง 34.5 กม. คืบหน้า 28.02% ขณะที่สายสีเหลือง ช่วง “ลาดพร้าว-สำโรง” ระยะทาง 30.4 กม. คืบหน้า 27.14% สาเหตุมาจากกรมทางหลวง (ทล.) ต้องเข้าไปทำระบบระบายน้ำ (ฟลัดเวย์) บน ถ.แจ้งวัฒนะ ของสายสีชมพู ระยะทาง 3-4 กม. และ ถ.ศรีนครินทร์ของสายสีเหลือง ระยะทาง 3 กม. จึงมีผลกระทบทำให้การก่อสร้างต้องล่าช้าออกไป ตามแผนทั้ง 2 เส้นทางจะเปิดบริการพร้อมกันในเดือน ต.ค. 2564

โปรเจ็กต์รอยต่อรัฐบาลใหม่

สายสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง มีกำหนดเริ่มการก่อสร้างในเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่สายสีส้มตะวันตกช่วง “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์” อยู่ระหว่างเตรียมการประมูลจัดหาเอกชนก่อสร้างและเดินรถ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค. 2563

ขณะที่รถไฟฟ้าสายที่ 11 ของประเทศไทย สายสีน้ำตาลช่วง “แคราย-ลำสาลี” ระยะทาง 22.1 กม. ที่รัฐบาลกำลังเร่งเครื่องหวังแก้รถติดย่านเกษตร-นวมินทร์ โดยแนวเส้นทางจะทับซ้อนกับทางด่วนสายเหนือขั้นที่ 3 ตอน N2 ช่วงวงแหวนตะวันออก-เกษตรฯ เป็นระยะทาง 5.7 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ล่าสุด กระทรวงคมนาคมให้ กทพ.รับภาระก่อสร้างในส่วนโครงสร้างร่วมไปก่อน วงเงิน 1,000 ล้านบาท เมื่อได้เอกชนลงทุนแล้วจะชำระคืนภายหลัง ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าเสนอ ครม.อนุมัติในเดือน ก.พ. 2564 มีกำหนดเปิดบริการในเดือน ก.ค. 2568

ปิดท้ายที่รถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค ทุกเส้นทางอยู่ระหว่างทำรายงาน PPP ออกแบบรายละเอียดและ EIA ทั้งรถไฟฟ้าภูเก็ต จากสนามบิน-ห้าแยกฉลอง อยู่ระหว่างทำรายงาน PPP พร้อมเปิดบริการปี 2566 รถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดงอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบรายละเอียด จะเปิดบริการในปี 2570


รถไฟฟ้านครราชสีมาสายสีเขียว กำลังคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด จะเปิดบริการในปี 2567 เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าพิษณุโลกสายสีแดงที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน พร้อมเปิดหวูดบริการในปี 2569