โจทย์รัฐบาลใหม่ Ease of Doing…การเมืองต้องนิ่ง ฟื้นกำลังซื้อตลาดกลาง-ล่าง

อาทิตย์ 24 มีนาคม 2562 วันเลือกตั้งทั่วไปในรอบ 5 ปี “ประชาชาติโพล” สำรวจข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนวงการอสังหาริมทรัพย์ สิ่งที่อยากเห็น สิ่งที่อยากให้ “รัฐบาลใหม่” บริหารประเทศนับจากนี้

สรุปภาพรวม อันดับแรกคือการเมืองต้องนิ่ง ถัดจากนั้นในภาพรวมอยากให้รัฐบาลใหม่ฟื้นกำลังซื้อให้กับตลาดกลาง-ล่างซึ่งเป็นจำนวนคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่พึ่งพิงรายได้พืชผลการเกษตรเป็นหลัก

แน่นอนว่านโยบายใหญ่สุดที่อยากเห็นการสานต่อแบบไร้รอยต่อ นั่นก็คือ “EEC-ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

รวมทั้งมีข้อเสนอแนะให้เข้ามาช่วยปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อทำให้การทำธุรกิจในเมืองไทย โดยคนไทย สามารถทำภายใต้โมเดล Ease of Doing เช่นเดียวกับที่รัฐบาลพยายามเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติจากทุกมุมโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ธนาคารโลกเป็นผู้เผยแพร่ Ease of Doing Business ซึ่งเป็นการจัดทำรายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจ สำรวจจาก 190 ประเทศทั่วโลก ประเมิน 10 ด้านด้วยกัน คือ การเริ่มต้นธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนทรัพย์สิน, การได้สินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การแก้ปัญหาการล้มละลาย และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา

สำหรับประเทศไทย ปี 2561 เราอยู่อันดับ 26 ล่าสุดตัวรายงานประจำปี 2562 เผยแพร่เมื่อ 31 ตุลาคม 2561 ประเทศไทยมีคะแนนเพิ่ม 1.06 คะแนน แต่หล่นไปอยู่อันดับ 27

อธิป พีชานนท์ 

นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

“การฟอร์มรัฐบาลใหม่ อยากเห็นทำให้จบภายในไตรมาส 2/62 เพื่อให้บรรยากาศการทำธุรกิจในไตรมาส 3-4 ได้เป็นเวลาทำมาหากินของภาคเอกชน อยากเห็นการเมืองนิ่ง และไม่อยากเห็นการรื้องานประมูลที่รัฐบาลชุดเดิมทำไว้ เอกชนทั้งไทยและต่างชาติอยากเห็นความต่อเนื่องของนโยบายรัฐ”

“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอง มีประเด็นมาตรการ LTV-loan to value ซึ่งเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2562 ทำให้ไตรมาส 2/62 มีเหตุการณ์พิเศษ เป็นช่วงเวลาประเมินผลกระทบ จะรุนแรงมากหรือน้อยแค่ไหน ครึ่งปีหลังจึงเป็นช่วงที่ต้องมีการปรับตัวมาก ๆ อยู่แล้วในปีนี้”

นพปฎล พหลโยธิน 

ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) 

“รัฐบาลใหม่ สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาล คงไม่ใช่เซ็กเตอร์อสังหาฯเพียงอย่างเดียว ผมว่าต้อง atmosphere เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของทั้งประเทศเลยจริง ๆ เพราะถ้ามาดูอสังหาฯอย่างเดียว เซ็กเตอร์อื่นอาจไม่มีกำลังซื้อ แต่ถ้าดูภาพรวม ถ้าเศรษฐกิจดี ไม่ต้องดูแลอสังหาฯเลย เราไปด้วยกันอยู่แล้ว”

“อยากให้ดูภาพใหญ่ เพิ่มการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ แก้ปัญหารถติด มีการคมนาคมที่ดี ผมว่าเป็น atmosphere อะไรที่คนประกอบธุรกิจได้ดี ทุกอย่างเราจับมือไปด้วยกันได้ดีทั้งประเทศเลย”

พีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล รีท แมนเนจเม้นท์ ประเทศไทย จำกัด (FIRM) 

“เนื่องจากเราเป็นอินดัสเทรียลพร็อพเพอร์ตี้ เราคาดหวังรัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อโรดแมป EEC เพราะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของเราเหมือนกัน ซึ่ง EEC สุดท้ายไม่ใช่แค่ภาคการผลิต แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มคอนเน็กทิวิตี้โลจิสติกส์ตามมาด้วย เราก็หวังให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ”

“ในส่วน scope down คือตลาดหลักทรัพย์ เราคุยหลายเรื่องถึงแนวทางทำยังไงส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโต ยกตัวอย่าง กิจกรรม M&A (ควบรวมกิจการ) ในสิงคโปร์ทำเป็นปกติ แต่ของไทยนอกจากประเด็นภาษีแล้ว ยังมีเรื่องการถือครอง ซึ่งมีกฎว่าถ้ากอง REIT รายใดรายหนึ่งให้ถือได้ไม่เกิน 50% แต่นโยบายบริษัทเข้าไปลงทุนกอง REIT ใดก็ตามต้องการถือ 99% เป็นต้น”

ศิริพร สิงหรัญ 

นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน 

“ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นกลุ่ม real sector ลูกค้ามีที่ดินอยู่แล้ว ซึ่งจะได้รับผลกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เป็นกลุ่มที่มีเงินออม มีที่ดินเป็นของตัวเอง จึงเชื่อว่าหากสถานการณ์หลังการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลาดรับสร้างบ้านจะเติบโตไปได้”

“อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับผู้ปลูกสร้างบ้าน และแรงงานก่อสร้างซึ่งไม่เหมือนแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งอยู่กับที่ แต่การสร้างบ้านต้องย้ายไซต์ก่อสร้างไปตามลูกค้า อยากให้รัฐสนับสนุนกฎหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง”

คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือโฮมโปร

“ปัจจุบันโฮมโปรมี 100 กว่าสาขา รวม 6 สาขาในมาเลเซียด้วย เป็นสาขาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 20 กว่าสาขา เพราะฉะนั้นสาขาที่เหลือจำนวนมากอยู่ในต่างจังหวัด เราอยู่ใกล้ชิดกำลังซื้อผู้บริโภคทั่วประเทศ”

“โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ ผมมองว่าทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดซึ่งพึ่งพิงรายได้จากพืชเกษตรเป็นหลัก แต่ราคาตกต่ำ เช่น มัน ยาง ปาล์ม อ้อย พื้นที่กำลังซื้อสูงยังกระจุกอยู่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เศรษฐกิจต่างจังหวัดที่กำลังซื้อดีมาจากเมืองอุตสาหกรรม รองลงมาก็เมืองท่องเที่ยว…”

จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 

“ธุรกิจสีทาอาคาร กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 70% เป็นตลาดรีเพนต์หรือบ้านเก่าทาสีซ้ำ กับตลาดบ้านใหม่ 30% มู้ดผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอยขึ้นกับกำลังซื้อ ขึ้นกับรายได้”

“อยากให้รัฐบาลใหม่ทำอะไรก็ได้ที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ทำให้คนเชื่อมั่นตัวเศรษฐกิจในภาพรวม”

กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด 

“รัฐบาลใหม่ต้องกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศที่น่าลงทุนในทุกด้าน เช่น เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐต้องเดินหน้าต่อเนื่อง รถไฟฟ้าต้องทำต่อเนื่อง EEC ทำแน่นอน กำหนดให้ชัดเจนทำปีไหน อะไร อย่างไร มีแผนระยะสั้นที่เป็นรูปธรรม เพิ่มรายได้ของกลุ่มรากหญ้า ให้เห็นว่ามีการขับเคลื่อนในระยะสั้น ระยะยาว”

“อีกเรื่องอยากให้ดูแลเรื่องดอกเบี้ยผู้กู้ เพื่อส่งเสริมให้คนมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง อาจจะส่งเสริมให้คนซื้อบ้านหลังแรกมีดอกเบี้ยพิเศษผ่านกลไกแบงก์รัฐ หรือ ธอส. ลดค่าธรรมเนียมการโอนบางส่วนอาจจะไม่ต้องถึง 0.01% แต่ก็ควรจะลดบ้างให้คนรู้สึกว่าซื้อตอนนี้คุ้ม เพราะรัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย”

ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ 

กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์นสตาร์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

“รัฐบาลใหม่ควรออกกฎช่วยเรื่อง facilitate ในการทำงาน เช่น การขออนุญาต EIA ช่วยให้ออกกฎที่จำเป็นในการใช้ชีวิตจริง ๆ บางที EIA มันก็มีกติกาที่เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ใช่ แต่ที่ต้องทำเพียงเพราะเป็นกติกา ต้องทำระบบป้องกันแบบนั้น ทำอย่างนั้น ป้องกันแบบนี้ ซึ่งบางทีมันไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับการใช้ชีวิตจริง ๆ เมื่อเวลาเรามาทำจะส่งผลต่อต้นทุน ส่งผลให้การทำโครงการยากลำบากขึ้น ข้อไหนที่ไม่จำเป็นควรตัดออกไปบ้าง”


“อีกส่วนอาจจะเป็นเรื่องกระตุ้นการโอน (มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ) มีโปรโมชั่นลดค่าธรรมเนียมช่วยการโอนอะไรประมาณนี้ เนื่องจากช่วงนี้คนกลัวที่จะจับจ่ายใช้สอย มาตรการรัฐจะเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศให้คึกคักขึ้นมาได้บ้าง”