เม.ย.กรมรางเกิดแน่ สหภาพฯรถไฟหวั่นตกยุค-ฝ่ายช่างขอยกเครื่องรับการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟครบ 122 ปี หัวข้อ “กรมรางกับทิศทางในอนาคตของคนรถไฟ” โดยมีนางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ ร.ฟ.ท. เป็นผู้ดำเนินรายการ มี นายสุทธิรักษ์ ยิ้มยัง หัวหน้างานฝ่ายนิติความ, นายสมพร บุญนวล วิศวกรอำนวยการศูนย์ลากเลื่อน และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ร่วมพูดคุยบนเวที

@พ.ร.บ.กรมรางประกาศใช้ เม.ย.

โดยนายสุทธิรักษ์กล่าวว่า การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เห็นชอบและรับทราบในหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ได้แก่ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) และร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรรวง ทบวง กรมฯ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว ขณะนี้อยู่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน เม.ย.นี้ ส่วน พ.ร.บ.ขนส่งทางราง อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำโมเดลของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งกำกับดูแลระบบขนส่งทางถนนทั้งหมดมาเทียบเคียง แล้วได้ดำเนินการเพิ่มเติมมาตราลงไปจนขณะนี้ มีมาตราทั้งสิ้นรวม 106 มาตรา

แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการเคยระบุไว้ว่า ร่างดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯผ่านการพิจารณาของสภา หรือก็คือภายในเดือน ม.ค. 2563 นี้

“คำว่าเสร็จในทีนี้ก็คือกฤษฎีกาจะต้องส่งร่างดังกล่าวกลับมาที่รัฐบาล เพื่อเสนอสภาพิจารณาถึงวาระ 3 หลังจากนั้นสภาจะส่งร่างกฎหมายกลับมาที่รัฐบาลเพื่อทูลเกล้าฯต่อไป โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จก่อน ม.ค.2563 หาก พ.ร.บ.กรมรางบังคับใช้ ร.ฟ.ท.ก็จะอยู่ในบทบาทของผู้ประกอบการ” นายสุทธิรักษ์ขยายความ

@สหภาพฯห่วงภาวะแข่งขันดุ-กรรมสิทธิ์หาย

ด้านนายสาวิทย์ ในฐานะประธาน สร.ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เบื้องต้นสหภาพเห็นด้วยกับการมีกรมการขนส่งทางราง เพื่อมากำหนดมาตรฐานกิจการที่เกี่ยวกับระบบรางทั้งหมด เพราะในอนาคตไม่ได้มีแค่ระบบรถไฟของ ร.ฟ.ท.เท่านั้น แต่จะรวมทั้งรถไฟฟ้าที่กำกับดูแลโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบบรถไฟฟ้าในท้องถิ่น และโครงการรถไฟควาามเร็วสูงเส้นทางต่างๆ ในอนาคต

แต่ก็มีข้อกังวลบ้างคือ เมื่อมีกรมรางเกิดขึ้น ภาวะการแข่งขันจะเกิดขึ้น เพราะ ร.ฟ.ท.จะกลายเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง ไม่ใช่ผู้กำกับดูแลเหมือนในอดีต และอนาคตอาจจะมีผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขันก็ได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างจะเสียเปรียบเอกชน เพราะการของบยังเป็นรูปแบบราชการ ล่าช้ากว่าระบบของเอกชนแน่นอน คำถามจึตามมาว่า วันนี้องค์กรเราได้เตรียมความพร้อมรับการแข่งขันแล้วหรือยัง?

อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องกรรมสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรของการรถไฟ เช่น การพัฒนาที่ดิน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า เมื่อกรมรางเกิดขึ้นแล้ว ร.ฟ.ท.จะต้องนำทรัพยากรที่คยมีมาถ่ายโอนไปให้กรมรางมากแค่ไหน หรือบทบาทขององค์กรจะเหลือแค่เดินรถเพียงอย่างเดียว จึงอยากให้กรมรางทำหน้าที่เป็นเรกูเรเตอร์ โดยที่ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารภายในของ ร.ฟ.ท.

@วอนยกเครื่องมาตรฐานภายในก่อน

ด้านนายสมพร ตัวแทนฝ่ายช่าง กล่าวว่า กรมรางมีเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการให้กับประชาชนให้ดีขึ้น ในวันนี้จึงต้องถามว่า มีมาตรฐานที่ดีพอหรือยัง? วันนี้ตนก็ตอบไม่ได้ จึงอยากให้ปรับปรุงการทำงานภายในให้มีมาตรฐานก่อน

คำถามจึงมีว่า กระบวนการภายในจะกำหนดการทำงานที่เป็นมาตรฐานอย่างไร ในภาพรวมขององค์กรที่จะมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก ร.ฟ.ท.ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์หรือยัง เช่น การเปลี่ยนหัวรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้า เพื่อรองรับระบบรถไฟใหม่ๆ ในอนาคต เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาแน่นอน ร.ฟ.ท.ได้ปรับตัวรับกับเรื่องนี้หรือยัง

“คำว่ามาตรฐานต้องคิดกันทุกฝ่ายว่าจะกำหนดร่วมกันอย่างไร การซ่อมบำรุงถ้าทำแบบเดิมมันไม่มีมาตรฐาน ทุกโรงซ่อม ทุกขั้นตอนการผลิต แม้แต่คุณภาพชีวิตของพนักงานได้ดูแลตีหรือยัง องค์กรหลงลืมเรื่องพวกนี้หรือไม่ อยากให้ดูแลเรื่องพวกนี้ให้ดีก่อน เพื่อรองรับกรมรางที่จะเกิดขึ้น”