“ซี.พี.” ปลดล็อกเกมประมูลไฮสปีด ลุย “อู่ตะเภา” แข่ง “หมอเสริฐ-BTS”

จากท่าทีของกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ บจ.ไชน่า คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ยอมถอนข้อเสนอพิเศษออกจากการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท

ถึงจะเป็นแค่บางส่วน แต่ก็ทำให้ผ่อนคลายการเจรจาที่ตึงเครียดกันก่อนหน้านี้ไปได้ไม่มากก็น้อย

โดย “กลุ่ม ซี.พี.” ยอมรับมติของคณะกรรมการคัดเลือก มี “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธาน จะคงระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

ส่วนเงื่อนไขด้านการเงินซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เพราะจะมาปิดจุดเสี่ยงโครงการนั้น “กลุ่ม ซี.พี.” ขอเวลาเจรจากับพันธมิตรด้านการเงินจากจีนและญี่ปุ่นให้ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) องค์กรความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการพัฒนาเมืองในต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOIN) และธนาคาร ICBC จากประเทศจีน

“ข้อเสนอด้านการเงิน กลุ่ม ซี.พี.ต้องการหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาลดความเสี่ยงโครงการ จึงขอเวลาเจรจาพันธมิตร เพราะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล 3 ประเทศ คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.แจ้งในที่ประชุมว่ามีแนวโน้มที่ดี กำลังเจรจาขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นจะยืนยันกลับมาให้คณะกรรมการรับทราบก่อนจะประชุมวันที่ 28 มี.ค. จะเร่งเจรจาให้จบก่อนสงกรานต์” นายวรวุฒิกล่าว

ว่ากันว่า…ท่าทีที่อ่อนลงของกลุ่ม ซี.พี.เป็นเพราะมีการส่งสัญญาณมาจากบิ๊กรัฐบาล ให้ยืดการเจรจากับ ซี.พี.ออกไปก่อน เนื่องจากรัฐบาลกำลังรอคำตอบการกู้เงินอัตราดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลจีนและญี่ปุ่นที่จะร่วมกันปล่อยกู้ให้กับ 7 โครงการในอีอีซี ในจำนวนนี้มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรวมอยู่ด้วย ซึ่งรัฐก็ต้องหาเงินอุดหนุนค่างานโยธาให้กลุ่ม ซี.พี. 117,227 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม ซี.พี.จะขอร่วมกู้ด้วย จึงยอมถอนข้อเสนอพิเศษ

เป้าหมายไม่ใช่คลายเดดล็อกโปรเจ็กต์ไฮสปีดเทรน ยังเป็นการเดินหน้าไปสู่หมุดหมายใหม่ “เมืองการบินอู่ตะเภา” อีกหนึ่งบิ๊กโปรเจ็กต์ที่มีมูลค่าการลงทุนสุดเร้าใจ 290,000 ล้านบาท ที่ ซี.พี.อยากจะปักหมุดหวังต่อยอดรถไฟความเร็วสูง

โปรเจ็กต์นี้ “ซี.พี.” ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร มีทั้งพันธมิตรเก่าอย่าง “อิตาเลียนไทยฯ-ช.การช่าง” และพันธมิตรใหม่ระดับโลกอย่าง บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้งส์ และ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide จากประเทศเยอรมนี แต่ไม่ยอมเปิดเผยสัดส่วนการลงขันของแต่ละพันธมิตร

ศึกประมูลสนามนี้ “กลุ่ม ซี.พี.” เจอคู่ปรับเก่า “กลุ่มบีทีเอส” ที่หมายปองโครงการนี้ไม่แพ้กัน ซึ่งเจ้าพ่อรถไฟฟ้า “คีรี กาญจนพาสน์” ผนึกกับ “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” และบิ๊กรับเหมา ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS มี บมจ.การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถือหุ้นใหญ่ 45% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 35% และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้น 20%

แต่ก็น่าแปลกใจ ทำไมไม่มีชื่อ “บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง” ร่วมแจมเหมือนเช่นเคย

ขณะที่ “กลุ่มกิจการร่วมค้าแกรนด์คอนซอร์เตียม” มายื่นเป็นรายที่ 3 ก็มาเติมสีสันให้สนามประมูลคึกคักมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มี บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ถือหุ้นใหญ่ 80% บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น 10% และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย 10% และมีกลุ่ม บจ.GMR Group Airport ประเทศอินเดียบริหารสนามบิน

ตามไทม์ไลน์หลังคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค-แผนธุรกิจ และซองข้อเสนอผลตอบแทน คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะในเดือน เม.ย. และเซ็นสัญญาภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

โดยเอกชนที่ชนะประมูลจะได้รับสัมปทาน 50 ปี เหมือนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แยกเป็นก่อสร้าง 3 ปี และบริหารซ่อมบำรุง 47 ปี

ขณะที่การลงทุน ภาครัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธารวม 17,768 ล้านบาท มีรันเวย์ที่ 2 หอบังคับการบินแห่งที่ 2 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ระบบ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา โรงบำบัดน้ำเสีย

ส่วนเอกชนลงทุน 5 โครงการมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน สร้างลานจอดรถและมีสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยผู้ชนะต้องประสานงานกับผู้ชนะรถไฟความเร็วสูง 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรี และ 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ส่วนการกำหนดพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี)

เป็นโฉมหน้าผู้ท้าชิงเค้กใหญ่อีกก้อน ปิดท้ายรัฐบาล คสช. ก่อนส่งให้รัฐบาลใหม่สานต่อ