เมืองโตไม่หยุด! กรมทางหลวงยันแนว”วงแหวนรอบ3″เหมาะสม ดีเดย์19เม.ย.สรุปรูปแบบจุดขึ้นลงลดเวนคืนหมู่บ้านพฤกษาวิลล์44

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่ 3 ด้านตะวันตกว่าถนนวงแหวนฝั่งตะวันตก ระยะทาง 98 กม. เป็นส่วนหนึ่งของโครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 ทั้งโครงการมีระยะทาง 254 กม. ซึ่งกรมได้ศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้วเมื่อปี 2552 ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนผลศึกษาเดิมให้สอดรับกับสภาพพื้นที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งโครงการนี้บรรจุอยู่ในแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ตั้งปี 2540 และขอยันยันว่าแนวเส้นทางมีความเหมาะสมแล้ว

“มีตัวแทนภาคประชาชนจาก จ.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา จำนวนมากเดินทางมาร้องเรียนโครงการ โดยวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ถนนบรมราชชนนี หมู่ที่ 1 ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้ยื่นข้อร้องเรียนและกรมได้รับทราบปัญหาแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาลดผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในวันที่ 19 เม.ย.นี้”

โดยผลกระทบของหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการสร้างทางขึ้นลง จะมีผลกระทบต่อการเวนคืนพื้นที่ท้ายหมู่บ้านประมาณ 50 หลัง ซึ่งกรมกำลังพิจารณาเปลี่ยนลักษณะรูปแบบเพื่อลดกระทบให้น้อยที่สุด โดยคงแนวเดิมและจุดขึ้นลงบริเวณนี้ไว้ เพราะจะเป็นจุดตัดไปเชื่อมกับถนนพระราม 2

ทั้งนี้สถานะทั้งโครงการของวงแหวนรอบที่ 3 กรมแบ่งดำเนินการ 3 ด้าน โดยด้านตะวันออกระยะทาง 96 กม. อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ จะเริ่มดำเนินการช่วงนครนายก-องครักษ์มาเชื่อมถนนบางนา-ตราด ก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่เร่งด่วนที่สุดเพื่อแก้ปัญหาจราจร

ส่วนด้านตะวันตก ระยะทาง 98 กม. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ในเบื้องต้นมีความคุ้มค้าในการลงทุนมี EIRR ประมาณ 15.8% โดยกรมจะเริ่มออกแบบรายละเอียดช่วงถนนพระราม 2 ไปเชื่อมกับมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีก่อน

สำหรับด้านใต้ ระยะทาง 60 กม. ชะลอโครงการไปก่อน เพราะรอความชัดเจนโครงการถนนและสะพานเชื่อมสมุทรปราการ-สมุทรสาครของกรมทางหลวงชนบท

“กรมนำผลการศึกษาเดิมมาทบทวนอีกครั้ง เพราะมองว่าปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวไปมาก ส่งผลให้ปริมาณจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ถนนวงแหวนรอบนอกปัจจุบันเริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วโครงการน่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ยังไม่สามารถระบุกำหนดไทม์ไลน์ได้ชัดเจน จะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีไหน แต่หากรัฐให้ดำเนินการในรูปแบบ PPP จะทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็วขึ้น“

นายอานนท์กล่าวย้ำอีกว่า ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสมโครงการ กรมได้ร่วมกับที่ปรึกษาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามวิธีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งได้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 มาใช้ประกอบการพิจารณา และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง (จากทั้งหมด 5 ครั้ง)

โดยครั้งที่ 1 เป็นการปฐมนิเทศโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 336 คน ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมหารือแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,054 คน ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมสรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 892 คน และครั้งที่ 4 เป็นการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบของโครงการ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25 ก.พ. – 3 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา

“แต่ละครั้งจะเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเวนคืน ผู้นำชุมชน พื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะ ซึ่งครั้งที่ 4 ในออกแบบเบื้องต้นมีแนวชัดเจนแล้ว จึงเชิญเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ในแนวเวนคืนเบื้องต้นเข้าร่วมประชุมโดยตรง”

โดยผลการคัดเลือกแนวเส้นทาง ไม่ผ่านโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ส่วนกรณีโรงพยาบาลนั้น มีแนวเส้นทางผ่าน รพ. ศาลายาบริเวณที่จอดรถในระยะประชิด ซึ่งที่ปรึกษาได้เข้าชี้แจงทำความเข้าใจกับ รพ.ศาลายาแล้วเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561

สำหรับกรณีผ่านโรงงานและชุมชุน ก็ได้พิจารณาลดผลกระทบอย่างสูงสุด เพื่อให้แนวมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง แต่เนื่องจากแนวเส้นทางมีความยาว 98 กม. บางตำแหน่งจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และได้กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และระยะดำเนินการแล้ว

ในส่วนของทางแยกต่างระดับที่เป็นทางเข้าออกโครงการฯ บริเวณหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ที่มีการร้องเรียนนั้น ที่ปรึกษาได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบทางเลือกของทางแยกต่างระดับ 3 รูปแบบ โดยมีการให้คะแนนทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้คัดเลือกรูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด

นายอานนท์กล่าวอีกว่า กรมขอยืนยันว่า การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ มีความจำเป็น สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากจะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เป็นทางหลวงที่มีมาตรฐานสูง มีการควบคุมจุดเข้า-ออก ส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด