2 ล้านล. เมนูลงทุนร้อนรัฐบาลใหม่

แฟ้มภาพประกอบข่าว
เมกะโปรเจ็กต์เฉียด 2 ล้านล้านบาท รอประมูล กระทรวงคมนาคมแชมป์ มอเตอร์เวย์-รถไฟฟ้าความเร็วสูง-รถไฟทางคู่-ทางด่วน-ท่าเทียบเรือ-สนามบิน จับตาโปรเจ็กต์ค้างท่อรอคิวรัฐบาลใหม่อนุมัติ ทั้งโครงการป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา-การประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 21

ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ปรากฏโครงการจำนวนมากในหลาย ๆ หน่วยงานคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.78 ล้านล้านบาท ที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมโครงการเหล่านี้เพื่อรอการ “ผลักดัน” ในรัฐบาลหน้า

คมนาคมเทกระจาดประมูล

กระทรวงคมนาคมมีโครงการขนาดใหญ่ถึง 21 โครงการ มูลค่ากว่า 1.29 ล้านล้านบาท ที่จะต้องเร่งเปิดประมูลหลังจากที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ไปแล้ว โดยนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมยังคงเดินหน้าประมูลโครงการต่าง ๆ ช่วงรอเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ โดยมีโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท ที่ยังค้างอยู่ ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ได้ผ่านบอร์ด PPP ไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติโครงการ

การเปิดขายซองประมูลระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา กับบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จ้างเอกชนบริหารโครงการ 30 ปี มูลค่า 61,000 ล้านบาท จะยื่นข้อเสนอวันที่ 27 มิถุนายน และได้ผู้ชนะในเดือนธันวาคม 2562 ในส่วนของโครงการในปีงบประมาณ 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรและจะต้องรอกรอบนโยบายและทิศทางในภาพรวมจากรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งกรมมีโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติผูกพันไว้แล้ว 29 โครงการ วงเงิน 52,500 ล้านบาท เช่น การขยายถนน 4 เลน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า มีรถไฟฟ้า 2 โครงการที่รอเสนอให้ ครม.เห็นชอบภายในเดือนเมษายนนี้ ได้แก่ สายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ เงินลงทุน 120,459 ล้านบาท ส่วนสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

รถไฟไทย-จีนแสนล้าน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ยังมีโครงการเร่งประมูลให้เสร็จ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 179,412 ล้านบาท ระยะทาง 253 กม. ยังเหลืออีก 12 สัญญา วงเงินกว่า 110,000 ล้านบาท กำลังเปิดประมูล 5 สัญญา ระยะทาง 144 กม. วงเงิน 58,425 ล้านบาท และอีก 7 สัญญาจะขาย TOR ในต้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะเซ็นสัญญาภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังเร่งประมูลสายสีแดง Missing Link (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติแล้ว และสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. เงินลงทุน 6,570 ล้านบาท กับช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. เงินลงทุน 10,202 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. เงินลงทุน 7,469 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเร่งรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 8 เส้นทาง 1,851 กม. วงเงิน 340,129 ล้านบาท เสนอ ครม.อนุมัติเพื่อเปิดประมูลตามลำดับความคุ้มค่าทางการเงิน โดยเส้นทางที่พร้อมสุด คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เนื่องจาก ครม.อนุมัติแล้ว ส่วนที่เหลือจะทยอยเสนอ ครม. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 3 เส้นทาง คือ ขอนแก่น-หนองคาย, จิระ-อุบลราชธานี และบ้านไผ่-นครพนม ส่วนภาคใต้มีช่วงชุมพร-สุราษฎร์ฯ, สุราษฎร์ฯ-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และภาคเหนือมีช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย กับเด่นชัย-เชียงใหม่

มิกซ์ยูสบางซื่อ-ไฮสปีด

ส่วนโครงการพัฒนาที่ดินนั้นภายในต้นเดือนเมษายนจะเปิดขายซองประมูลโซน A พื้นที่ 32 ไร่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อ เพื่อพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยจะเร่งเอกชนผู้ชนะประมูลให้ดำเนินการส่วนพื้นที่รีเทลเสร็จในเดือนมกราคม 2564 รองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเร่งเจรจาให้เสร็จก่อนสงกรานต์ รอการคอนเฟิร์มเรื่องข้อเสนอด้านการเงินจากกลุ่ม CP ที่ยังหารือกับพันธมิตรไม่แล้วเสร็จโดยเฉพาะจีน อาจจะทำให้เลื่อนการเจรจาในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ออกไปเป็น 4 เมษายน 2562 แทน

ทางด่วน 3 หมื่นล้าน

ด้านนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.กำลังเปิดขายซองประมูลทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงิน 30,437 ล้านบาท จำนวน 5 สัญญา โดยจะปิดขายซองวันที่ 23 เมษายน และเปิดยื่นซองวันที่ 24 เมษายน คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2562

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมเข้ามาว่า ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องดำเนินการคาบเกี่ยวต่อกับรัฐบาลชุดใหม่ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โซน F มูลค่ากว่า 85,000 ล้านบาท โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเปิดยื่นซองวันที่ 29 มีนาคมนี้, การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เช่น ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 วงเงิน 19,422 ล้านบาท, ส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก 8,000 ล้านบาท, การซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ของ บมจ.การบินไทย วงเงิน 200,000 ล้านบาท, ศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภา วงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ที่รอแอร์บัสยื่นข้อเสนอวันที่ 15 เมษายนนี้

แก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา

ส่วนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของกรมชลประทาน จำนวน 9 โครงการ บรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏมีเพียงโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร วงเงิน 21,000 ล้านบาท เพียงโครงการเดียวที่ได้เริ่มดำเนินโครงการในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนโครงการที่เหลืออีก 8 โครงการ ได้แก่ 1) คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก งบประมาณ 36,400 ล้านบาท และคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย งบประมาณ 89,860 ล้านบาท (อยู่ระหว่างออกแบบสำรวจและการพิจารณา EIA) 2) คลองระบายน้ำควบคู่วงแหวนรอบ 3 งบประมาณ 169,216 ล้านบาท ยังอยู่ในขั้นออกแบบสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น

3) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง งบประมาณ 57,100 ล้านบาท 4) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก งบประมาณ 34,300 ล้านบาท 5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 852 ล้านบาท 6) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน งบประมาณ 2,466 ล้านบาท 7) โครงการการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ งบประมาณ 6,119 ล้านบาท และ 8) พื้นที่รับน้ำนอง ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ประมูลปิโตรเลียมรอบ 21

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า โครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์มีอยู่เพียงโครงการเดียว คือ โครงการพัฒนาเอเชียทีค 2 เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 3,705.7 ล้านบาท ในเฟส 2 ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ส่วนกระทรวงพลังงาน หลังจากเสร็จสิ้นการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุลง คือ แปลง G1/61 กับ G2/61 (แหล่งบงกช-เอราวัณเดิม) จนได้ผู้ชนะไปแล้ว ขณะนี้ก็จะเหลือการเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ทันในรัฐบาลชุดนี้

คลังโครงการค้าง 89,914 ล้าน

ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทางกระทรวงเจ้าสังกัดได้เห็นชอบรายงาน PPP และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPPs) เห็นชอบรวม 7 โครงการด้วยกัน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 89,914 ล้านบาท ซึ่งอาจจะรอเสนอหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือจะเสนอในรัฐบาลปัจจุบันก็ได้ ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับนโยบายว่าจะเร่งรัดหรือไม่

โดยโครงการทั้ง 7 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) วงเงินลงทุนรวม 39,885 ล้านบาท 2) โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงินลงทุนรวม 14,177 ล้านบาท 3) โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วงเงินลงทุนรวม 13,000 ล้านบาท 4) โครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ของกรมการแพทย์ วงเงินลงทุนรวม 8,220 ล้านบาท 5) โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ หนองหอย ของ กคช. วงเงินลงทุนรวม 5,550 ล้านบาท 6) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก วงเงินลงทุนรวม 4,847 ล้านบาท และ 7) โครงการการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมตามเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (TOD) ของ กคช. วงเงินลงทุนรวม 4,235 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 อีก 11 โครงการ ที่เป็นการดำเนินการในรูปแบบ PPP fast track มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 817,399 ล้านบาท ได้แก่ โครงการที่ลงนามในสัญญากับเอกชนแล้ว 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงินลงทุนรวม 56,691 ล้านบาท 2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ของ รฟม. วงเงินลงทุนรวม 54,644 ล้านบาท และ 3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ของ รฟม. วงเงินลงทุนรวม 83,877 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 8 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท 2) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 55,620 ล้านบาท 3) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท


4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก ของ รฟม. วงเงินลงทุนรวม 128,235 ล้านบาท 5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของ รฟม. วงเงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท 6) โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต วงเงินลงทุนรวม 39,406 ล้านบาท 7) โครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ยังไม่สรุปมูลค่าลงทุน และ 8) โครงการระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา ยังไม่สรุปมูลค่าลงทุนเช่นกัน