เจ้าสัวเจริญอัดฉีดแลนด์แบงก์ 1 หมื่นไร่โซน EEC อุ้มเฟรเซอร์สฯ บุกตลาด Built-to-Suit “โกดังสั่งสร้าง-โรงงานสั่งสร้าง”

เจ้าสัวเจริญอัดฉีดแลนด์แบงก์ 1 หมื่นไร่ โซน EEC อุ้มเฟรเซอร์สฯ บุกตลาด Built-to-Suit “โกดังสั่งสร้าง-โรงงานสั่งสร้าง” ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ขาย 1.2 แสน ตรม.ในปีนี้

นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เปิดเผยว่า ต้นปี 2562 มีการรีแบรนด์จากไทคอนเป็นเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้กรุ๊ป เพื่อยกระดับและต่อยอดเป็นบริษัทข้ามชาติ โดยสัดส่วนลูกค้าบริษัทต่างชาติ 80% และคนไทย 20%

“เฟรเซอร์สฯ มีการลงทุนหลากหลาย โดยลอจิสติกส์กับอสังหาริมทรัพย์มีผลดำเนินการโดดเด่น ปัจจุบันลงทุนใน 30 ประเทศ 80 เมือง จุดโฟกัสยังอยู่ในโซนเอเชีย ล่าสุดสนใจเข้าไปลงทุนโซนยุโรปมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจฮอสพิทอลิตี้”

ทั้งนี้ FPT มีโมเดลธุรกิจคือ 1.Ready to Built อสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรมพร้อมใช้ ข้อดีคือได้สัญญาเช่าปกติไม่เกินครั้งละ 3 ปี

2.BTS หรือ Built-to-Suit มีสต๊อกที่ดินสำหรับลูกค้าที่สนใจ เพราะอาจมีความต้องการในการใช้อาคารที่เปลี่ยนแปลงไปตามธุรกิจ เช่น การรองรับน้ำหนักมากกว่า 3 ตันได้หรือไม่ การวางโปรดักชันไลน์ ทางเข้า-ออกของรถขนส่ง ฯลฯ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือน-1 ปี ข้อดีทำให้ลูกค้าได้สินค้าแบบที่ต้องการ สัญญาเช่ายาว 7-10 ปี

ทั้งนี้ การปรับแผนธุรกิจทำ BTS-Built to Suit มากขึ้นบริษัทต้องเตรียมความพร้อม 8 ด้าน อาทิ “การเตรียมที่ดิน” โดยมีทั้งบริษัทเตรียมเองและแลนด์แบงก์บริษัทในเครือ

“มาสเตอร์แพลนนิ่งดีไซน์” เติมเต็มเข้าในเมื่อสองปีที่แล้ว มีการนำทีมใหม่มาเสริม, ความชำนาญในด้านลอจิสติกส์

“การก่อสร้าง” ทำยังไงให้ก่อสร้างในเวลาที่กำหนด เพราะธุรกิจต้องการลงทุนและผลิตโดยเร็วที่สุด

“บริการหลังการขาย” เพราะทรัพย์สินยังเป็นของเรา ลูกค้ามาเช่าเรา จึงต้องบำรุงรักษาให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเสมอ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ในอดีตทำ BTS แล้ว 5 แสนตารางเมตร นับจากนี้จะทำเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มอีก 1.2 แสนตารางเมตร อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้า 6 ราย โดยมีแลนด์แบงก์บางนา-ตราด, บางพลี และที่ดิน 4,800 ไร่ นำบางส่วนมาซัพพอร์ต รวมทั้งโรงงานเฉพาะทาง ซึ่งความต้องการใช้เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี

สำหรับตลาดต่างจังหวัด บริษัทได้รับสนับสนุนจากบริษัทแม่ในโซน EEC ในด้านแลนด์แบงก์ไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ขึ้นไป, ลำพูน 150 ไร่ และขอนแก่น 200 ไร่

นางสาวแซลล่ เธ่ห์ ชิว ฮาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบ BTS เฉลี่ยมีความต้องการใช้พื้นที่ 30,000-50,000 ตารางเมตร เป็นการลงทุนระยะยาวและมีความยั่งยืน โดยบริษัททำหน้าที่ผู้สนับสนุน ลูกค้าอาจเริ่มที่สเกลเล็กและขยับขยายเป็นสเกลใหญ่ในอนาคต

“พฤติกรรมการลงทุนพบว่า ความต้องการถ้าเป็นบริษัทเล็กต้องการลงทุนทันที จึงมักเลือกการเช่าแบบ Ready to Built เทียบกับรายใหญ่ต้องการแบบ BTS เป็นหลัก”

สำหรับลูกค้าโมเดล BTS สถิติปัจุจบันมีฐานลูกค้าในมือ 500,000 ตารางเมตร มาจากธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ค้าปลีก, อีคอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์ สัดส่วน 40%

ทั้งนี้ ลูกค้าโลจิสติกส์รายใหญ่ เช่น DHL, สยามแม็คโคร, ลินฟ้อกซ์, แอมเวย์, เซ็นทรัล วัตสัน, ฟอร์ด, ลอรีอัล, เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท, ไดกิ้น เป็นต้น แผนธุรกิจปีนี้อยู่ระหว่างเจรจาลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์

“เดิมแบบพร้อมใช้ทำโรงงานเพดานสูง 12 เมตร ปัจจุบันความต้องการเปลี่ยนไป อาจสูงถึง 30-40 เมตร ปัญหาที่พบประจำคือเวลาผู้ออกแบบของบริษัทกับลูกค้าพูดคุยกัน ความเข้าใจยังไม่ตรงกัน โดยคนออกแบบมีจุดโฟกัสอยู่ที่การก่อสร้างเป็นพื้นที่ตารางเมตร ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ชำนาญที่เข้าใจความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง โดยบริษัทสามารถจบงานให้ลูกค้าได้ภายใน 3 เดือน”

คลิกอ่านเพิ่มเติม “ไทคอน”เตรียมปรับภาพลักษณ์ใหม่สู่แบรนด์ระดับโลก สนับสนุนทิศทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในอาเซียน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!