ฉลุย! ซี.พี.ยอมปลดล็อกทุกเงื่อนไขไฮสปีด อุบไต๋แหล่งเงินกู้คาดเซ็นสัญญา พ.ค.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เปิดเผยว่า ผลการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตรหรือกลุ่มซี.พี. เอกชนที่เสนอให้รัฐอุดหนุน 117,227 ล้านบาท น้อยกว่ากรอบวงเงินที่รัฐบาลอนุมัติที่ 119,425 ล้านบาท ในวันทึ่4 เม.ย.ตั้งแต่เวลา 09.30 น.ที่ผ่านมา

ผลสรุปกลุ่มซี.พี.ยอมรับเงื่อนไขอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกได้ชี้แจงไปแล้ว 2 ข้อคือด้านเงื่อนเวลาและการเงิน ที่จะต้องพิจารณาตามประกาศเชิญชวนลงทุน (RFP) ทั้งหมด จึงขอให้คณะกรรมการคัดเลือกนัดหมาย เพื่อขัดเกลาถ้อยคำและสำนวนในร่างสัญญา และเจรจากันต่อในส่วนที่เป็นข้อปลีกย่อย เช่น การกำหนดเงื่อนไขกรณียกเลิกสัญญา หรือการชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัยที่กระทบกับโครงการ เป็นต้น

“คณะกรรมการคัดเลือกจะนัดหมายกลุ่มซี.พี.ไม่เกิน 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อเจรจาในข้อปลีกย่อย และขัดเกลาสำนวนและถ้อยคำที่ยังไม่ชัดเจนในร่างสัญญาให้เป็นไปตามความเห็นของทั้งสองฝ่าย “

ทั้งนี้คาดว่าคณะทำงานของทั้งสองฝ่ายอาจจะตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายมาร่วมกันตรวจสอบ ก่อนที่คณะกรรมการคัดเลือกจะตรวจสอบอีกรอบหลังเทศกาลสงกรานต์ ก่อนส่งให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป และคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เห็นชอบได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในลำดับถัดไป โดยจะลงนามในสัญญาได้ประมาณเดือน พ.ค.

“ตอนนี้ถือว่าเดินมา 70-80% อยู่ในกระบวนการเจรจาขั้นสุดท้ายแล้ว เพราะเงื่อนไชข12 ข้อ กลุ่มซี.พี.ยอมปลดทั้งหมดแล้ว แต่ยังพูดไม่เต็มปากว่าซี.พี.ได้แล้ว เพราะยังเหลือคุยเรื่องปลีกย่อยอีกนิดหน่อย “

ส่วนการตรวจร่างสัญญาหากทั้งสองฝ่ายอยากได้ผู้เชี่ยวชาญช่วยอธิบายข้อสงสัยเพิ่มเติม เช่น ข้อสงสัยด้านวิศวกรรม เราก็มีฝ่ายช่างช่วยอธิบาย หรือเรื่องนโยบาย เราก็ขอความร่วมมือไปยัง สำนักงานนโยบายแบะแผนดฝการขนส่งและจราจร(สนข).ให้ได้ ส่วนจะนัดหมายกันเมื่อไหร่นั้น เบื้องต้นวางไว้เป็นหลังาสงกรานต์แต่ต้องดูก่อนว่าแต่ละฝ่ายจะสะดวกเมื่อใด

ขณะที่การชี้แจงเรื่องแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ นายวรวุฒิ กล่าวว่า กลุ่มซี.พี.บอกแต่เพียงว่าได้ตกลงกับแหล่งเงินทุนที่มีเรียบร้อยแล้ว ส่วนซี.พี.ไปคุยกับแหล่งเงินทุนรายใด สื่อต้องไปหาเอง เพราะเป็นเรื่องของฝั่งซี.พี. ส่วนความกังวลด้านการเมืองของพันธมิตรต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีแล้ว

ด้านการส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เหลือเพียงคำนวณรางวัดโฉนดบริเวณมักกะสัน ส่วนที่เหลือก็ดำเนินการไปตามพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ขณะที่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) โดยเป็นการขอข้อมูลเพิ่มเติมในบางส่วน ซึ่งร.ฟ.ท.ก็ได้เพิ่มเติมไปแล้ว อย่างไรก็ตามการลงนามในสัญญาจะต้องรอให้ EIA ผ่านก่อน ซึ่งซี.พี.ก็รับทราบถึงเงื่อนไขนี้แล้ว